เชฟโรเลต คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน แรงกว่าเดิม
จูนเครื่อง LS9 V-8 ใหม่ อัดทะลุ 638 แรงม้า 320 ก.ม./ชม.
จูนเครื่อง LS9 V-8 ใหม่ อัดทะลุ 638 แรงม้า 320 ก.ม./ชม.
เชฟโรเลต คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน (Chevrolet ZR1) ซูเปอร์คาร์รุ่นล่าสุดอาจออกมาแรงกว่าที่คิด หลังจากการเปิดตัวเป็นครั้งแรกที่งาน NAIAS 2008 (North American International Auto Show) เมื่อต้นปี 2008 ที่ผ่านมา ทางทีมงานวิศกรของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น และ เชฟโรเลต สหรัฐอเมริกา คาดว่า ซีอาร์วัน จะมีกำลังสูงสุดอยู่ที่ 620 แรงม้า หรือ 100 แรงม้า ต่อ 1 ลิตร จากเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ซูเปอร์ชาร์จ แอลเอสไนน์ (Supercharged LS9 ) ขนาด 6.2 ลิตร ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน เป็นรถที่มีความเร็วแรงมากที่สุดเท่าที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส เคยผลิตขึ้นมา
อย่างไรก็ตามก่อนการวางตลาดของ เชฟโรเลต คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน ในกลางปี 2008 นี้ ทีมวิศวกรของจีเอ็มได้ทดสอบเครื่องยนต์ LS9 อีกครั้ง และคาดว่า LS9 จะสามารถรีดพลังออกมาได้สูงถึง 103 แรงม้า ต่อ ลิตร หรือ 638 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุดที่ 819 นิวตันเมตร ทำให้ คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 322 กิโลเมตร / ชั่วโมง
“หนึ่งในเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดของ คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน คือ การยกระดับของความประณีตในการออกแบบจากทีมวิศวกรผู้ออกแบบที่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพละกำลัง สมรรถนะการขับขี่บนถนน ที่จะทำให้ผู้ขับขี่ได้รับความสนุกสนานไปกับการขับขี่ใช้งานในทุกๆ วัน หรือแม้แต่การขับอยู่ในสนามแข่ง” มร.เอ็ด เพเพอร์ ผู้จัดการทั่วไป เชฟโรเลต สหรัฐอเมริกา กล่าว
คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน กำลังจะออกสู่ตลาดในกลางปีนี้ พร้อมด้วยโครงแชสซีส์ที่สามารถรองรับการขับขี่ที่หนักหน่วงได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด และไม่เคยถูกนำมาใช้กับรถรุ่นอื่นๆ มาก่อน คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ที่มีความทนทานสูงสำหรับการใช้ในสนามแข่ง พร้อมเทคโนโลยีแผ่นคลัตช์คู่แบบ ดูอัลดิสก์ (Dual-disc) เพิ่มการควบคุมระบบส่งกำลังให้เครื่องยนต์ได้อย่างยอดเยี่ยม และมีแรงเฉื่อยของการส่งกำลังต่ำกว่าคลัตช์ทั่วไป พร้อมเพลาขับที่ประกอบขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งคอร์เว็ตต์ เป็นรถสปอร์ตที่มีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์อันยาวนาน เริ่มต้นจากปี 1953 คอร์เว็ตต์ ซีวัน (Corvette C1) เป็นรถสปอร์ตรุ่นแรก ที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ แถวเรียง และประกอบแบบ hand built คือ ประกอบด้วยมือโดยไม่ใช้เครื่องจักรในการผลิต และเป็นรถสปอร์ตแบบ 2 ประตู ที่กลายเป็นเอกลักษณ์และตำนานของคอร์เว็ตต์มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี 1955 ถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ แบบ วี 8 สูบ เป็นครั้งแรก และได้รับการพัฒนาต่อๆ มาอีกมากมายหลายรุ่น จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 6 คือ คอร์เว็ตต์ ซีซิกซ์ ซึ่งในแต่ละรุ่นจะมีรุ่นพิเศษออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็น C6R ในเวอร์ชั่นของรถแข่ง หรือ Z06 ที่มีสมรรถนะสูงขึ้นเทียบเท่ากับเวอร์ชั่นของรถแข่งแต่อยู่ในรูปทรงของรถสปอร์ตทั่วไป รวมทั้งเวอร์ชั่น ZR1 ที่ให้สมรรถนะสูงที่สุด
ซีอาร์วัน จะเป็นรหัสที่หมายถึงรถสปอร์ตรุ่นพิเศษที่เน้นให้มีสมรรถนะสูง สำหรับ คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วันรุ่นล่าสุดนี้ มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “ซีซิกซ์ ซีอาร์วัน” (C6 ZR1) คอร์เว็ตต์ มีรุ่นสมรรถนะสูงที่ใช้รหัส ซีอาร์-วัน (ZR-1) มีมาตั้งแต่รุ่น C3 คือ C3 ZR-1 ซีทรี ซีอาร์-วัน และ C4 ZR-1 ซีโฟร์ ซีอาร์-วัน แต่ในรุ่นที่ 5 หรือ คอร์เว็ตต์ ซี 5 ไม่มีรุ่น ZR-1 แต่จะมีเพียง C5 Z06 ที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกันกับเวอร์ชั่นตัวแข่งคือ C5R ซีไฟว์อาร์ ก่อนที่รุ่นที่ 6 จะมาเป็น คอร์เว็ตต์ ซีซิกซ์ ซีอาร์วัน ที่ใช้ตัวอักษรที่เปลี่ยนไปเป็น C6 ZR1 โดยไม่มีขีดคั่นกลางระหว่าง ZR กับ 1
สำหรับ เครื่องยนต์ LS9 ยังคงเอกลักษณ์เดิมของคอร์เว็ตต์ คือ เป็นเครื่องยนต์ที่ประกอบขึ้นแบบ hand built ซึ่งทีมงานฝ่ายเทคนิคที่ได้รับการฝึกฝนการประกอบเครื่องยนต์มาเป็นพิเศษจาก ศูนย์การประกอบเครื่องยนต์สมรรถนะสูงของจีเอ็ม ในเมืองวิกซอม รัฐมิชิแกน (Wixom, Michigan) ซึ่งเป็นศูนย์การประกอบพิเศษสำหรับเครื่องยนต์รุ่นพิเศษที่มีการผลิตในจำนวนจำกัด อาทิ เครื่องยนต์ LS7 ใน เชฟโรเลต คอร์เว็ตต์ ซีซีโร่ซิกซ์ (Z06) และเครื่องยนต์สมรรถนะสูงหลายๆ รุ่น ก็ได้รับการประกอบขึ้นที่ศูนย์การประกอบนี้เช่นกัน
“การพัฒนาเครื่องยนต์ LS9 ไม่ได้มีเพียงในเรื่องของแรงม้าสูงๆ เท่านั้น แต่ยังผ่านการทดสอบความทนทาน และความมั่นใจในด้านอื่นๆ อีกมาก เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเครื่องยนต์รุ่นนี้แข็งแกร่งสมบูรณ์แบบและไม่ต้องจุกจิกกับการดูแลรักษามากเหมือนกับเครื่องยนต์ขนาดเล็กรุ่นอื่นๆ” มร.แซม ไวน์การ์เด้น ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิศวกรรมเครื่องยนต์ของจีเอ็ม บรรยายคุณภาพของเครื่องยนต์ LS9 พร้อมกล่าวต่อไปอีกว่า “สิ่งเหล่านี้ทำให้เครื่องยนต์ LS9 มีความโดดเด่น จากการเป็นเครื่องยนต์ที่มีพละกำลังมากที่สุดเท่าที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส เคยประกอบขึ้นมาก และมันก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้พวกเราทุกคนภูมิใจกับการได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตเครื่องยนต์ LS9”
ระบบอัดอากาศแบบซูเปอร์ชาร์เจอร์ใน LS9
จุดสำคัญที่ทำให้เครื่องยนต์ LS9 ใน คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน ที่จะขึ้นสายการผลิตเป็นครั้งแรกในกลางปีนี้นั้น สามารถรีดสมรรถนะสูงสุดออกมาได้ในระดับนี้ เนื่องจากระบบอัดอากาศ ซูเปอร์ชาร์เจอร์ ที่มีลักษณะเฉพาะด้วยการออกแบบพัดลมอัดอากาศแบบ 4 ใบพัด แต่มีระบบการทำงานที่เงียบมากขึ้น และให้สมรรถนะที่สูงขึ้น ขณะที่ระบบอัดอากาศซูเปอร์ชาร์เจอร์ตัวนี้มีปริมาตรอยู่ที่ 2.3 ลิตร ซึ่งใหญ่เพียงพอสำหรับการอัดปริมาณอากาศจากรอบการหมุนที่สูงของใบพัด โดยมีแรงดันในการอัดอากาศเข้าเครื่องยนต์สูงถึง 0.72 บาร์ และซูเปอร์ชาร์จเจอร์ตัวนี้ยังทำงานร่วมกับระบบหล่อเย็นที่จะช่วยลดอุณหภูมิของอากาศที่จะพุ่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ความลงตัวจาก ปริมาตรขนาดใหญ่และพัดลม 4 ใบพัด ทำให้ซูเปอร์ชาร์เจอร์รุ่นนี้ให้สมรรถนะสูง เพิ่มกำลังให้กับเครื่องยนต์ได้มากขึ้นที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ และทำให้เครื่องยนต์เดินเรียบตลอดทุกย่านความเร็ว ในรอบต่ำเครื่องยนต์ก็ให้แรงบิดสูงมาก และเครื่องยนต์ก็มีกำลังมากในช่วงรอบเครื่องยนต์สูงจากการทำงานของซูเปอร์ชาร์เจอร์ มันทำให้ผมรู้สึกทึ่งกับการทำงานของมัน” มร.ไวน์การ์เด้นกล่าว
เชฟโรเลต คอร์เว็ตต์ ซีอาร์วัน วางเครื่องยนต์ด้านหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง เมื่อยกฝากระโปรงหน้าก็จะได้เห็นเครื่องยนต์ LS9 ที่วางไว้อย่างเรียบร้อยเนียนตา ขณะเดียวแม้จะปิดฝากระโปรง ก็ยังมีการออกแบบเจาะฝากระโปรงพร้อมปิดด้วยโพลีคาร์บอเนทแบบใส เพื่อให้สามารถมองเห็นเครื่องยนต์รุ่นนี้ได้ แม้จะปิดฝากระโปรง
รายละเอียดเครื่องยนต์ LS9
เครื่องยนต์ LS9 ได้รับการออกแบบอย่างมีลักษณะเฉพาะ มีความประณีต และสามารถรองรับสมรรถนะสูงได้อย่างสมบูรณ์แบบ จากการออกแบบเสื้อสูบด้วยอะลูมิเนียม ปลอกหุ้มลูกสูบทำจากเหล็ก ใช้เพลาข้อเหวี่ยงโลหะแบบสลักเกลียว 9 สลัก เชื่อมก้านสูบกับลูกสูบอะลูมิเนียมด้วยไทเทเนียม ฝาสูบถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ขนาด 55 มิลลิเมตร วาล์วไอดีทำจากไทเทเนียม ท่อวาล์วขนาด 40.4 มิลลิเมตร ส่วนวาล์วไอเสียใช้โลหะธาตุโซเดียม LS9 ยังใช้เพลาลูกเบี้ยวขนาดใหญ่ 14.1 มิลลิเมตร ที่ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้ดีเยี่ยมในรอบเดินเบา และการขับขี่ในย่านความเร็วต่ำ อ่างน้ำมันเครื่องมีปริมาตรถึง 9.9 ลิตร
# # #
ข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องยนต์ LS9
แบบ LS9 ซูเปอร์ชาร์จ วี 8 สูบ 6.2 ลิตร
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี): 6,162
กระบอกสูบ/ช่วงชัก (มม): 103.25 / 92
เสื้อสูบ: อะลูมิเนียม
ฝาสูบ: อะลูมิเนียม
วาล์ว: ฝาสูบเดี่ยว 2 วาล์ว : 1 สูบ
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: SFI (sequential fuel injection) จ่ายเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนหัวฉีด 1 หัว ต่อ 1 สูบ และ 1 วงจรจุดระเบิด 1 วงจร ต่อ 1 หัวฉีด ที่ช่วยให้เครื่องยนต์ลดปริมาณมลพิษ และให้กำลังมากขึ้น
อัตราส่วนกำลังอัด: 9.1:1
กำลังสูงสุด: 638 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด (นิตันเมตร): 819 ที่ 3,800 รอบ/นาที
ความเร็วสูงสุด 330 กม. / ชม. (โดยประมาณ)
วัสดุท่อส่งไอเสีย: สเตนเลส
วัสดุฝาแบริ่ง: เหล็ก
วัสดุเพลาข้อเหวี่ยง: เหล็ก
วัสดุเพลาลูกเบี้ยว: เหล็กกลวง ขนาด 14.1 มิลลิเมตร
วัสดุจุดยึดก้านสูบ: ไทเทเนียม
วัสดุวาล์ว: วาล์วไอดี: ไทเทเนียม
วาล์วไอเสีย: เหล็ก
ตัวยกกระเดื่องวาล์ว: ระบบไฮดรอลิค
รุ่นซูเปอร์ชาร์เจอร์: R2300 แบบ 4 ใบพัด ขนาด 2.3 ลิตร