e-toyotaclub จัดสัมมนา"Guru Talk:มีคำถามเรื่องรถ อยากรู้ กูรูจัดให้"
Ask GURU อยากรู้ ถามผู้รู้ พบกับ "ช่างเล็ก บุญมา นาวาทอง" แฟนพันธุ์แท้รถมือสอง กูรูผู้มากด้วยประสบการณ์ที่จะมาไขทุกเรื่องข้องใจ คลายทุกข้อสงสัยที่เกี่ยวกับรถยนต์ พร้อมตอบข้อซักถามต่างๆให้กับสมาชิก ในวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคมนี้ ที่ The Style by Toyota สยามสแควร์
*************************
กูรู เพื่อนรุ่นพี่ผมคนนี้ นอกจากเรื่องรถแล้วเรื่องเบาสมองเขาก็เคยเขียนให้ผมครับลองอ่านดู
*************************
ขนาดช้างยัง ขอค่าตัวเพิ่ม !?
บุญมา นาวาทอง
ประมาณปี พ.ศ. 2515 เชื่อไหมว่าผมกลายเป็นเสี่ย ใคร ๆ ในเมืองนั้นก็เรียกผมว่าเสี่ยเล็ก จะไม่ให้เรียกได้อย่างไร ก็เมื่อผมกลายเป็นหลานอาคนหนึ่งของโรงสีข้าวทวีชัย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมินู่น
เมืองภูเขียวสมัยนั้น บอกได้เลยว่ามันคือบ้านป่าเมืองเถื่อนจริง ๆ การเดินทางไปภูเขียว มีรถเมล์เที่ยวเดียว ออกจากหมอชิตตี 4 ไปถึงภูเขียว บ่าย 2 โมง คิดเอาเลยว่า แค่ 400 กว่ากิโลเท่านั้น แต่ใช้เวลากันนานจริง ๆ สมัยนี้หรือ ภูเขียวเป็นดินแดนไดโนเสาร์ มีสวนนก มีวนอุทยานภูเขียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หนึ่งของเมืองไทยเลยก็ว่าได้
ผมเป็นอาเสี่ยได้อย่างไร ?
เรื่องมันมีอยู่ว่าผมอยู่กรุงเทพ เป็นช่างซ่อมรถยนต์อยู่บริษัทรถเยอรมันชื่อดังแห่งหนึ่ง ก็ด้วยความชอบเที่ยวนี่เอง ไอ้จุ้ยมันชักชวนผมไปซ่อมรถให้โรงสีข้าวที่ภูเขียว ก็เลยชักชวนกันไป ไปกับเฮียฮุย แกเป็นญาติ ๆ เจ้าของโรงสี และแกก็เป็นพ่อค้าหมู หมูเป็น ๆ นี่แหละ แกจะไปหาซื้อหมูที่ภูเขียวเป็นประจำ ผมกับไอ้จุ้ยก็เลยติดรถแกไป เพื่อจะไปซ่อมรถที่โรงสี ตามที่เฮียฮุยได้ชักชวนเอาไว้
เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นจริง ๆ สำหรับผม เมืองภูเขียว ก้าวแรกที่ได้เหยียบแผ่นดิน ดูมันแห้งแล้ง ถนนก็ราดยางหมด หมายถึงยางมันหมด เหลือแต่ดินกับลูกรัง ฝุ่นฟุ้งไปหมด และที่เยอะที่สุดคือแมลงวัน หากจะนอนพักผ่อนกลางวัน ก็จะต้องกางมุ้งไม่งั้นแมลงมันจะตอม จะนอนไม่ได้เลย จริง ๆ ครับ ไม่รู้เขาอยู่กันได้อย่างไร แต่เชื่อไหมครับ สมัยนั้น มีดารา ชื่อดังคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น ก็เขาคนนั้นก้อคือพ่อของศรรามเวลานี้ ผมได้เจอที่นั่น เขายังอยู่ดีกินดีเป็นอาเสี่ยที่นั่น
แล้วผมล่ะ ? หลังจากไปถึงใหม่ ๆ ที่แรก ๆ ก็ท้อ รถที่จะซ่อมดูมันโทรมทุกคัน รถในโรงสีมีอยู่ 5-6 คัน เสียเกือบทุกคัน ก็เพราะที่นั่นไม่มีช่าง ผมกับไอ้จุ้ย ก็เลยจัดการซ่อมกันอยู่นาน เป็นอันว่า ผมอยู่ที่นั่นเป็นเดือน กว่าที่จะซ่อมรถให้ดีได้ทุกคัน จนในที่สุดก็ใช้ได้ทั้งหมด เป็นเดือนผ่านไป ในภูเขียว ที่ไหนบ้างจะไม่รู้จักเสี่ยเล็ก ก็เพราะตอนไปถึงใหม่ ๆ เสี่ยเจ้าของคุยไปทั่วว่าหลานชายเป็นช่างจากกรุงเทพ จะให้อยู่ที่นี่เลย ให้คุมโรงสีข้าวทั้งหมด จากที่อาเสี่ยแกวางฟอร์มให้ผม ใคร ๆ ก็เข้าใจว่าผมเป็นหลานจริง ๆ กินข้าวจะต้องรอไอ้หลานชายทุกครั้ง ทุก ๆ มื้อ คนงานในโรงสีตั้ง 20 กว่าคน ก็เห็นเช่นนั้น หลานชายเจ้าของโรงสี นอกจากซ่อมรถเป็น แล้วก็รูปหล่ออีกด้วย สาว ๆ ผมเห็นปั่นจักรยานมาแอบมองผมอยู่เรื่อย ส่วนไอ้จุ้ย ไอ้คนนี้ ตั้งแต่ไปถึงมันก็ไปชอบเทพีสงกรานต์ที่นั่นเข้าแล้ว มันเฝ้าตามไปจีบที่บ้านไม่ว่างเว้น แล้วในที่สุด มันก็กลับกรุงเทพ เพราะแฟนมันจะมาเฉ่ง มันเลยกลับ ส่วนผม อาเสี่ยแกบอกว่าอยู่กันที่นี่เถอะ เงินก็มีใช้ รถก็มี จะไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ เมืองนี้สงบเงียบก็จริง แต่เราก็เข้าเมืองขอนแก่นไปเที่ยวก็ได้ ผมก็หลงคารมอาเสี่ย เพราะแกให้เงินผมพกเป็นฟ่อน จะใช้ก็ไม่ว่า แถมยังมีปืนให้พกที่เอวอีก 1 กระบอก มันเป็นชีวิตเสี่ยย่อย ๆ คนหนึ่ง ลูกน้องก็มีเด็กในโรงสีคอยรับใช้ อะไรจะมีความสุขขนาดนั้น ที่สำคัญ เมียอาเสี่ยแกติงต๊อง ไม่ร้อนไม่หนาว อาเสี่ยแกเลยชอบเที่ยว แล้วผมก็กลายเป็นคู่เที่ยวกับอาเสี่ย อาเสี่ยอายุ 35 ผมอายุไม่ถึง 20 ไปไหนไปกัน และในที่สุดผมก็เลยไม่คิดกลับกรุงเทพ คิดวางแผนจะอยู่ภูเขียวทั้งชีวิต เพราะว่าอยู่นานแล้ว รู้สึกว่าชอบ และถ้ากลับกรุงเทพ บริษัทรถยนต์เขาไล่ผมออกตั้งนานแล้ว ที่สำคัญที่สุดอีกก็คือผมแอบชอบสาว ๆ แถว ๆ นั้นเอาไว้ อาเสี่ย แกบอกจะไปสู่ขอ จะจัดแต่งงานให้ จะปลูกบ้านให้อยู่อย่างดี เอาซีครับ ชีวิตอะไรที่จะลงตัวขนาดนี้
หลาย ๆ เดือนต่อมา ผม กับอาเสี่ย ได้มีโอกาสไปดูตลาดข้าว หมายถึงไปติดต่อร้านค้าในย่านจังหวัดใกล้เคียงแถว ๆ นั้น ก็ไปกันที่ชุมแพ ภูกระดึง วังสะพุง เมืองเลย ก็คือจังหวัดเลยนั่นเอง ในการไปติดต่อก็ติดต่อตะร้านค้าว่า จะเอาข้าวเหนียวมาขายให้ และก็ติดต่อซื้อข้าวเปลือก ธุรกิจโรงสี ก็ซื้อข้าวเปลือกมาสีให้เป็นข้าวสารแล้วก็ส่งขายในแถบใกล้เคียง หากจำนวนมาก ๆ ก็ส่งเข้ากรุงเทพ ในเหตุที่จะไปขายในเขตทุระกันดารจะไม่ค่อยมีใครไป ไม่มีคู่แข่ง และบางครั้งหากไปขายแถบภูกระดึง เมืองเลย ก็จะมีผลพลอยได้เวลากลับ ขากลับก็รับซื้อของป่า ตั้งแต่ถ่าน ปุ่มมะค่า ไม้เลื่อยมือ ไม้บางชนิดจะมีราคาแพงเช่นไม้ชิงชัน หรือไม้พยุง ผลพวงที่จะซื้อของขากลับนั้น สร้างผลกำไรได้ดี คู่แข่งก็ไม่มี เพียงแต่ว่า เวลากลับ ที่ด่านผานกเค้า จะมีด่านตรวจ แต่เมื่อค้าขายจนรู้จักกันแล้ว ตำรวจแถว ๆ ด่านก็จะไม่ค่อยมายุ่งกับเรา ก็เพราะเราจะซื้อของมาให้บ่อย ๆ แถมยังมีซองผ้าป่าที่ส่งให้บ่อย ๆ เรียกว่าจะเข้าออกเขตป่าสงวนได้สบาย ๆ เส้นทางสมัยนั้น ตั้งแต่อำเภอภูเขียวจะต้องมาที่อำเภอชุมแพ แล้วก็ไปที่ตำบลผานกเค้า ผ่านอำเภอภูกระดึง ไปที่อำเภอวังสะพุง แล้วก็เข้าเขตเมืองเลย บางที่ก็จะต่อไปอำเภอเชียงคาน อำเภอปากซม
จากที่อาเสี่ยโรงสีได้พาผมไปให้รู้จักการทำมาหากินกับถิ่นทุรกันดาร ผมรู้สึกว่ามีความสุข อยู่ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อม ร่มรื่น ผืนป่าเขียวชะอุ่ม ถนนบางช่วงถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ส่วนถนนก็จะไปกันในหน้าที่ไม่มีฝน หน้าฝนถนนจะไปไม่ได้ จากที่อาเสี่ยกับผมเปิดตลาดในเขตนั้น เราก็ไปกันเดือนละ 2 ครั้งบ้าง 4 ครั้งบ้าง ก็รู้สึกว่า สินค้าขากลับนั้น ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอยู่วันหนึ่ง มีผู้ที่เคยค้าขายด้วยกันมาบอกว่า ตอนนี้มีสินค้าอยู่เยอะ มีทั้งปุ่มมะค่า ไม้ชิงชัน แถมมีของป่าอีกหลาย ๆ อย่าง บอกว่า ถ้าจะมาเอาเที่ยวนี้ จะต้องใช้รถใหญ่ ๆ รถ 6 ล้อที่เข้าป่าได้ และต้องรีบมาเอา ถ้าช้า ฝนตก รถก็จะเข้าไม่ได้ ตกลง อาเสี่ย กับผมรับปากว่า อีก 2 วัน จะมาเอาสินค้า จะได้ติดต่อที่ด่านผานกเค้าเอาไว้ก่อน ไม่ติดต่อเดี๋ยวจะถูกจับ เพราะเราไม่มีใบอนุญาตค้าของป่า เมื่อถึงวันเวลา อาเสี่ยบอกว่าจะไปด้วย ผมทำหน้าที่ขับรถ 6 ล้อ เพราะคนขับประจำป่วยกะทันหันในวันนั้น ผมออกจากโรงสีกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า รีบไปยังจุดหมายคือ ตำบลตาดป่า ไปยังเขตตำบลผาขาง ในเขตที่ว่านี้ถือว่าเป็นเขตป่าสงวนที่ยังสมบูรณ์ที่สุดในการเข้าไปเอาของป่า ก็ต้องมีลูกสมุนที่จะต้องนำไป 4 คน ก็มีผม อาเสี่ย รวม 6 คน ไปถึงผาขาวก็บ่าย ๆ จะต้องขับรถเข้าผ่านทางแคบ ๆ แล้วเข้าไปแบบทางเกวียน อีก 10 กิโลเมตร เมื่อไปถึงยังจุดนัดหมายที่จะเอาของขึ้นรถ ปรากฏว่ามีการผิดพลาด ของยังขนมาห่างจากรถมาก จะต้องแบกของไกลในป่า เรียกว่าต้องใช้เวลา จะต้องมาในวันต่อไป จึงจะเอาของมายังจุดนัด หรือจุดที่รถไปถึง ตอนนั้น 3 โมงเย็นแล้ว เรายังอยู่ในดงดิบ ไม่ได้ของก็ต้องรีบกลับ เดี๋ยวจะมืดก่อนที่จะออกมาที่ถนนใหญ่ ในช่วงทางขาออก จากที่ผ่านเข้าไป รถก็ต้องบุกลุยทางที่เปียก ทางที่เป็นที่หลุมอยู่หลายจุด ขาออกนี้เองผมขับแบบเสียอารมณ์ที่มาเสียเที่ยว เลยขับแบบลุย ๆ โดยไม่คิดว่ารถจะตกหล่มตกหลุม แล้วก็เอาเข้าจนได้ มีแอ่งน้ำอยู่แอ่งหนึ่ง ดูก็ไม่ใหญ่ ตอนขาเข้าก็ลุยเข้าไปสบาย ผมขับผ่านแอ่งที่ว่าแบบอยากจะให้น้ำสาดกระจายไปเลย ผมเหยียบคันเร่งสุด ๆ พอรถผ่านแอ่งรถมันกระเด้ง หน้ารถมันแฉลบออกไปนอกแอ่งเล็ก มันไปลงแอ่งใหญ่ รถตะแคงหยุดนิ่งล้อด้านซ้ายมิดโคลน ล้อหลังจมมิดน้ำไปเลย ดินในป่ามันนิ่ม ผมทดลองเข้าเกียร์ถอย แล้วเดินหน้า รถมันก็ยิ่งจมลงไปอีก จนคนงานบอกว่า ต้องตัดไม้มาคัดช่วยรถจะได้ขึ้นได้ ก็ทำตามคนงานบอก อาเสี่ยชักหน้าเสียในตอนนั้น แต่ก็ไม่กล้าว่าอะไรผม ให้ผมตัดสินใจเอาไงเอากัน เราพยายามกันจนเกือบมืด ก็ไม่สามารถเอารถขึ้นจากแอ่งน้ำได้ ในเวลาต่อมาโพล้เพล้ จะมืดสนิทแล้วยุงเริ่มออกหากินแล้ว เราก็พบว่า มีช้างกำลังเดินมา มีควานช้างนั่งอยู่บนคอช้าง 2 คน เรียกว่าคนขับช้าง หรือควานช้างนั่นเอง มีช้างผ่านมาแล้วคนงานของเราดีใจมาก บอกว่าให้ช้างลากรถขึ้นได้ ช้างตัวใหญ่มาก รถติดหล่มในป่าก็ต้องใช้ช้างเท่านั้น เราโชคดีจริง ๆ เลย ผลของการเจรจากับคนขับช้าง ค่าลากจูงเอารถขึ้นครั้งนี้ 200 บาทเท่านั้น แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเอาช้างกลับไปยังที่พักช้างก่อน แล้วพรุ่งนี้จะมาดึงรถให้ อ้าว ไฉนเป็นแบบนั้นไปได้ ก็ได้คำอธิบายว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ จะต้องบอกก่อนว่าวันนี้จะไปทำอะไร และวันนี้ไม่ได้บอกกับช้างว่าจะต้องมาดึงรถคันนี้ จึงไม่สามารถจะบอกช้างตอนนี้ได้
ผมคิด ๆ ดูแล้ว ก็ไม่แปลกอะไร ช้างต้องทำงานตามที่เจ้าของบอกล่วงหน้านั้นถูกต้องแล้ว ไม่งั้นเดี๋ยวช้างบังคับไม่ได้ อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ ช้างเป็นสัตว์ที่ถือว่าเป็นสัตว์ใหญ่ที่สุด ฉะนั้น คนจะบังคับได้ คนก็ต้องมีคำมั่นสัญญากับช้าง
เป็นอันว่า ช้างกลับไปก่อน แล้วพวกเราล่ะ 6 คน จะนอนที่ไหน กินที่ไหน ยุงก็ชุม แล้วป่าแถบนี้งูก็ชุมอีกด้วย แถมยังมีคนโดนเสือตะบบมาเยอะแล้วในเขตนี้ แล้วพวกเราก็ต้องอดข้าวแล้วก็สุมไฟ เพื่อไม่ให้ยุงกัด ทั้งคืน เราไม่ค่อยจะได้หลับเลย เราเป็นผู้เสียสละให้อาเสี่ยนอนในเก๋งตอนหน้า แล้วผมก็อยู่ในกระบะตอนหลังกับคนงาน คันข้าง ๆ รถก็ให้คนงานสุมไฟเอาไว้อย่าให้ไฟดับเป็นใช้ได้ ชีวิตที่มีแต่สุข แต่ครั้งนี้ มีแต่ทุกข์ ไม่เคยเลยที่จะค้างคืนในป่าแบบนี้ ต้องค้างแบบไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ผมสงสารอาเสี่ยที่ต้องมาลำบากในครั้งกับผม เช้าวันรุ่งขึ้น ประมาณ 7 โมงเช้า เราก็ได้ยินเสียงช้างเดินมา เป็นเวลาที่เราหิวโหย ไม่ได้กินอะไรกันเลย พอช้างเดินมาถึงรถ คนขับช้างช่างใจดีจริง ๆ ส่งกระติ๊บข้าวเหนียวมาให้ พร้อมทั้งพริกป่น ปลาร้าเป็นตัว ๆ มื้อนี้เป็นมื้อที่ผมต้องยืนมองพร้อม ๆ กับอาเสี่ยโรงสี ก็กลืนน้ำลาย ข้าวเหนียวเปล่า ๆ ก็ยังดีนะครับเสี่ย ส่วนน้ำก็กินน้ำข้าง ๆ รถตรงนั้นก็ได้ คนขับช้างบอกว่าน้ำแถว ๆ นี้กินได้ ไม่มีไข้ป่า ว่าแล้วผมก็ทำเป็นตัวอย่าง แบ่งข้าวเหนียวมาจากคนงาน 2 ปั้น แบ่งให้อาเสี่ย เอาน่า ผมคิด ปลาร้า ก็ปลาร้า พอได้กินด้วยความหิว ก็รู้สึกว่ามันอร่อยเหมือนกันนี่ ชีวิตผมจะไม่ลืมอาหารมื้อนี้อีกเลย จากที่ได้กินมื้อเช้าวันนี้ ก็มาถึงเวลาที่น่าระทึก จะต้องเอาช้างดึงลากขึ้นจากโคลน คนขับช้างบอกผมว่า เวลารถเคลื่อนที่ได้แล้ว หากรถขึ้นพ้นแล้ว จงอย่าให้รถไหลไปโดนช้างโดยเด็ดขาด ต้องคอยเบรกเอาไว้ แล้วห้ามติดเครื่อง ห้ามบีบแตร เป็นกฎอย่างเคร่งครัด ผมรับฟังด้วยความยินดี ผมโดดขึ้นไปนั่งประจำที่คนขับ จับพวงมาลัย คนขับช้างก็ถอยหลังช้างเขามาใกล้ ๆ หน้ารถ แล้วก็เอาโซ่คล้องที่กันชนด้านหน้า รถอีซูซุ 6 ล้อ หัวเก๋งเหล็ก กันชนหน้าแข็งแรงมาก เมื่อคล้องโซ่แล้ว คนขับช้างก็เข้าเกียร์ 1 ให้ช้างเดินหน้า พอช้างเดิน 2 ก้าว ก็มีเสียงขอโซ่กระตุกดังโครมที่กันชน รถสะท้านทั้งคันไปเลย รถมีการเขยื้อนเล็กน้อย ในระหว่างที่โซ่ตึงช้างมันจะหยุดนิ่ง ๆ เพื่อรวมกำลัง แล้วมันก็ค่อย ๆ ก้าวเดิน ผมคิดว่ารถจะต้องขึ้นได้ แต่ช้างมันก็เดินไม่ไหวเอาเสียเลย มันดึงไม่ขยับเลย มันดึงไม่ไหวจริง ๆ ผู้ช่วยคนขับช้างบอกว่า คงเอาขึ้นไม่ได้แล้ว ช้างแถวนี้ก็มีตัวเดียวเท่านั้น ถ้ามี 2 ตัวก็สบายมาก ผมคิดในใจ ถ้าอีกตัวนึงมี ก็คงต้องพรุ่งนี้อีกกระมัง อาเสี่ยของผมบอกแบบใจถึง ว่าพี่ ๆ ช่วย ๆ กันหน่อยน่า ถ้าช่วยเอารถขึ้นล่าย จะให้อีก 1 พันเลย เท่านั้นเอง มีผลทั้งหูช้าง ทั้งหูคนขับช้าง ผึ่งทันที ตั้งหนึ่งพันแน่ะ ตกลงเอากันใหม่ ครั้งนี้ เขาเอาโซ่มาคล้องแล้วปล่อยให้ยาวกว่าเดิมสัก 2 เมตร หมายถึงช้างจะได้ยืนในที่ดินแห้ง ๆ หน่อย ช้างจะได้มีแรง และในครั้งนี้เอง ช้างมันเดินโก่งตัวพอโซ่ตึงมันก็ห่อตัว แล้วกระตุกเต็มแรง เสียงโซ่กับกันชนหน้ารถดังสะท้านทั้งคัน มันรุนแรงกว่าครั้งแรก รถค่อย ๆ เขยื้อน แล้วช้างมันก็หยุดแต่ยังดึงโซ่เอาไว้ ไม่ให้โซ่หย่อน มันออกแรงเดิน พร้อมกับรถค่อย ๆ เคลื่อนทีละน้อย ผมมองดูท้ายช้างเวลานั้น ขี้มันไหล เยี่ยวมันราดออกมาเลย แล้วมันก็ร้องโหยหวนดังลั่นไปเลย มันเดินช้า ๆ รถก็ค่อย ๆ ขึ้นพ้นแอ่งโคลน มันดึงขึ้นมาจนพ้นหลุมจนมาถึงที่แห้งซึ่งเป็นเนินลาดลงมันยังคงเดินต่อ รถก็พ้นจากหล่มแล้ว ก็มีเสียงผู้ช่วยช้างบอกว่า เซา ๆ หมายถึงหยุด คงจะเป็นเช่นนั้น คนขับช้างหยุดแบบกระทันหันเลย ช้างมันหยุดนิ่ง แต่รถผมไม่หยุด รถค่อยไหลไปหาช้างผมได้ยินเสียงตะโกน เซา ๆ ผมก็ไม่รู้ ผมก็เหยียบเบรก เหยียบจนมิด มันมิดจมหายหมายถึงเบรกไม่มีนั่นเอง ผมหยุดรถไม่ได้ รถกำลังจะไหลไปโดนช้างเข้าแล้ว แล้วก็จริง ๆ เสียด้วย กันชนหน้าไปแตะเข้าที่ขาหลังช้างจริง ๆ เท่านั้นเอง เสียงร้องแปล๊นก็กังวานขึ้นลั่นป่าทันที มันร้องเพราะตกใจสุดขีด มันออกวิ่งทันที มันกระตุกรถเคลื่อนที่ตามไปด้วย มันวิ่งเข้าข้างทางเข้าไปมุดกอไผ่ตัวมันมุดหนาม คนขับช้างกระโดดลงหกคะเมนตีลังกา ในวินาทีนั้นผมก็ตาค้างแบบช๊อค รถก็เคลื่อนไปติดที่ตอไม้ ช้างก็ร้องแล้วดึงกระตุกรถ มันกระตุกจนกันชนหลุดขาดไปกับโซ่ พอกันชนหลุดมันก็ออกวิ่งไปในป่า มีเสียงร้องโหยหวน แปล๊น ๆ ตลอดเวลา ผมเห็นมันวิ่งไปแบบป่าราบ ผมตัวชาไปทั้งตัว เพราะกลัวสุดขีด อะไรกันนี่ ช้างมันแรงขนาดนี้เชียวหรือ
และจากความตื่นเต้นกันทั้งหมด ครบทุกคน ทั้งช้างทั้งคน ต่างก็มองหน้ากัน เวลาผ่านพ้นไปก็ค่อย ๆ คลายความตกใจ รู้ไหมครับ คนขับช้างบอกว่า ผมจะต้องทำขวัญช้างครั้งใหญ่ ไม่งั้นช้างตัวนี้จะทำงานไม่ได้เลย เพราะมันตกกะใจสู๊ด ๆ คนขับช้าง ผู้ช่วย ก็ขอร้องให้อาเสี่ยกับผม ช่วยออกค่าใช้จ่ายเงินค่าครู รวมทั้งค่าทำพิธี ต้องไปเชิญหมอช้างมาจากที่อื่น คิดแล้วผมจะต้องช่วยทั้งหมด แล้วในที่สุดก็ตกลงกันได้ นั่นก็คือ จ้างเพิ่มไปอีก 1 พัน รวมเป็น 2200 บาทในวันนั้น จากนั้น ผมก็นำรถกลับออกจากป่า แล้วก็มาซ่อมเบรกแล้วจึงกลับภูเขียว ด้วยความซึมเศร้า ในชีวิตไม่เคยเจออะไรเช่นนี้เลย ครับ ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องจริง ๆ ทั้งหมด ไม่ได้เติมแต่ง จำได้ว่ามันตื่นเต้นกว่าที่ผมจะอธิบายในนี้ด้วยซ้ำ อาเสี่ย พิชัย เจ้าของโรงสีทวีชัย ภูเขียว ไม่ได้เจอกันมากว่า 30 ปีแล้ว ผมไม่ลืมเรื่องนี้เลย และตอนนี้อาเสี่ยสบายดีหรือเปล่าครับ ผมช่างเล็กบุญมา ยังคงเป็นช่างเหมือนเดิม.
หมายเหตุ เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร รถ เมื่อ เดือนกรกฎาคม 2547