ในรายการ AFOS
เสร็จสิ้นกันไปแล้วสำหรับการแข่งขัน AFOS (ASIAN FESTIVAL OF SPEED)สนามสุดท้ายที่ประเทศไทย ณ สนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต พัทยา ซึ่งคราวนี้เหมือนสนามอื่นๆ ทาง Proton Axle Racing Team ได้ส่งรถ Proton Neo Racing ลงทำการแข่งขันด้วยเช่นกัน โดยนักแข่งนั้นยังเป็น 2 นักแข่งระดับมือพระกาฬอยู่เหมือนเดิมคือ Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) และ Faidzil Alang (ไฟซิล อาลาง) ซึ่งเป็นผู้คุมบังเหียนเจ้า Proton Neo Racing มาโดยตลอด ซึ่งก่อนการแข่งขัน 2 สนามสุดท้าย คะแนนของทั้งคู่นั้นลุ้นชิงตำแหน่งแชมป์ แบบไล่บี้กันมาติดๆ แถมยังเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีอีกด้วย ใครชนะจะได้ตำแหน่งแชมป์ประจำปีไปครอง ซึ่งคราวนี้กลับมาปะทะกับนักแข่งของประเทศไทยมากมายเช่นเคย
เมื่อถึงเวลาลงแข่งขันจริงในรุ่น ATCS 1500 MAX รถ Proton Neo Racing ของ Proton Axle Racing Team ทั้ง 2 คัน พร้อมเต็มที่ ขับเคลื่อนออกจากปากทางพิทเพื่อลงไปเตรียมตัว และวอร์มหน้ายาง อุณหภูมิองศาของความมันส์นั้นร้อนแรงตามอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะในอีกไม่กี่อึดใจศึกความมันส์ในรุ่นนี้ก็จะอุบัติขึ้น หลังจากเช็คความพร้อมของรถแต่ละคันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะปล่อยรถให้วิ่งออกไปฟรีรัน 1 รอบแล้วกลับมาที่จุดสตาร์ท รถทุกคันที่เข้าแข่งขันวิ่งออกไปเพื่อทำการฟรีรันและวอร์มเปิดหน้ายางจนร้อนได้ที่แล้ว กลับมาที่จุดสตาร์ทเช่นเดิมเพื่อรอสัญญาณไฟ เมื่อสัญญาณไฟดับลงรถทุกคันต่างกดคันเร่งมิดเกจ์ เสียงท่อที่ดังสนั่นลั่นสนามพีระฯ เซอร์กิต สร้างความระทึกให้ผู้ชมรอบสนามได้ไม่น้อย อุณหภูมิความมันส์ได้ระเบิดขึ้นแล้ว รถทุกคันขับออกซ้ายออกขวาเพื่อที่จะหาช่อง ทำให้ตัวเองไปอยู่ข้างหน้าให้เร็วที่สุด ทันใดนั้นเองเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นรถของ Faidzil Alang (ไฟซิล อาลาง) หมายเลข 12 เกิดอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ กรรมการสั่งตีธงแดง รถทุกคันหยุดวิ่ง นายสนามวิ่งเข้าไปดูนักแข่งที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่ง Faidzil Alang (ไฟซิล อาลาง) ออกมาจากรถได้อย่างปลอดภัยเรียกได้ว่าสมรรถนะและระบบความปลอดภัยของรถ Proton แข็งแรงจริงๆ อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ต้องหยุดการแข่งขันไปพักใหญ่ พอเคลียร์สนามเรียบร้อย รถทุกคันก็พร้อมกลับมามันส์กันต่อ เริ่มการวอร์มยางอีก 1 รอบ จากนั้นก็เริ่มแข่งขันอีกครั้ง รถทุกคันเหยียบคันเร่งกันจนจมไมล์ พุ่งทะยานไปข้างหน้าเพื่อชิงการเข้าโค้งแรก โดยรถที่เข้าสู่โค้งแรกได้ก่อนเป็นรถของ Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) หมายเลข 11 ตามมาด้วยรถ Toyota Vios หมายเลข 3 ของ ตรัยธนิษฐ์ ฉิมตะวัน และ หทัย ไชยวัณณ์ หมายเลข 2 ตามลำดับ ในจังหวะโค้ง U-Turn Proton Neo Racing เบอร์ 11
โดย Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) โดนสะกิดเล็กน้อยเสียไลน์ออกไปเล็กน้อย ทำให้ ตรัยธนิษฐ์ ที่จ้องรอจังหวะอยู่แซงหน้าขึ้นมาเป็นที่ 1 ส่วน Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) ตกไปอยู่ในอันดับที่ 2 ตามด้วย หทัย ไชยวัณณ์ หมายเลข 2 และ สุทธิลักษณ์ บุญเจริญ หมายเลข 78 การแข่งขันผ่านไปประมาณ 10 รอบ Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) ออกอาการให้แฟนๆ ชาวไทยหวาดเสียวกันเล็กน้อยก่อนที่จะเข้าโค้ง S1 และ S2 ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งทาง Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) กับเจ้า Proton Neo Racing หมายเลข 11 ยังครองตำแหน่งที่ 2 ได้อย่างเหนียวแน่นและตามมาติดๆด้วย Toyota Vios เบอร์ 78 โดย สุทธิลักษณ์ บุญเจริญ ทำให้ Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) ประมาทไม่ได้เช่นกัน ด้วยฝีมือการขับของ Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) และสมรรถนะรถที่ดีเยี่ยมของรถยนต์ Proton สามารถขับเคี่ยวและฝ่าฟันนักแข่งของประเทศไทยและแข่งขันจนครบ 20 รอบ พร้อมทั้งคว้าตำแหน่งที่ 2 ไปครองได้ ส่วนตำแหน่งที่ 1 ตกเป็นของ ตรัยธนิษฐ์ ฉิมตะวัน หมายเลข 3 และที่ 3 เป็นของ สุทธิลักษณ์ บุญเจริญ หมายเลข 78
ถึงแม้ Syafiq Ali (ไซฟิค อาลี) กับ Proton Neo Racing หมายเลข 11 จะคว้าตำแหน่งที่ 2 ในสนามนี้ แต่ผลคะแนนรวมของรายการ AFOS ก็ยังทำให้แฟนๆ ได้ชื่นใจ ด้วยการคว้าแชมป์ประจำปีไปครอง ในรุ่น ATCS 1500 MAX ด้วยคะแนนรวม 119 คะแนน ส่วนตำแหน่งที่ 2 ประจำปีนี้ ตกเป็นของ Faidzil Alang (ไฟซิล อาลาง) ด้วยคะแนนรวม 115 คะแนน ซึ่งผลการแข่งขัน AFOS ประจำปีนี้ ทำให้ Mr. Alex Yoong ( อเล็กซ์ ยุง) ผู้จัดการทีม Proton Axle Racing ถึงกับยิ้มแก้มปริ เพราะคว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ ถือได้ว่าสมรรถนะของรถยนต์ Proton Neo นั้น แรง แข็งแกร่ง ทนทาน ทั้งในและนอกสนามจริงๆ ส่วนแฟนๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ตามเชียร์ทีม Proton Axle Racing มาโดยตลอดคงดีใจกันถ้วนหน้ากับความสำเร็จครั้งนี้