25 ม.ค. 2551
จีเอ็มครองแชมป์ ยอดขายทั่วโลกทะลุเป้า 9 ล้านคัน 3 ปีซ้อน
จีเอ็มครองแชมป์! ยอดขายทั่วโลกทะลุเป้า 9 ล้านคัน 3 ปีซ้อน
• เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่สร้างยอดขายทะลุ 1 ล้านคันในจีน สร้างสถิติใหม่ให้กับจีเอ็มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
• สร้างสถิติยอดจำหน่ายที่ดีที่สุดในยุโรป ละตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง
• ผู้นำด้านยอดขายในตลาดประเทศเศรษฐกิจใหม่ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 95 ในรัสเซีย
ดีทรอยต์ - ตามรายงานข้อมูลยอดจำหน่ายเบื้องต้นโดย เจนเนอรัล มอเตอร์ส เปิดเผยว่า ในปี 2550 ที่ผ่านมา จีเอ็มมียอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,369,524 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปี 2549 และสำหรับไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว จีเอ็มมียอดจำหน่ายทั่วโลกอยู่ที่ 2,305,752 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549
“ในประเทศจีน เราสร้างสถิติยอดจำหน่ายได้มากกว่า 1 ล้านคัน ส่วนในประเทศรัสเซีย เราจำหน่ายรถยนต์ไปแล้วกว่า 258,000 คัน ทำลายทุกสถิติด้วยยอดขายที่มากกว่าปี 2549 เกือบสองเท่า และสำหรับประเทศบราซิล เราจำหน่ายรถยนต์ไปเกือบ 5 แสนคัน ผลงานในตลาดประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ช่วยกระตุ้นผลประกอบการทั่วโลกของจีเอ็ม แสดงให้เห็นการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคทั่วโลกต่อรถยนต์ประหยัดพลังงาน และมีรูปลักษณ์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและการสร้างสรรค์ของเรา” มร. จอห์น มิดเดิลบรู๊ค รองประธาน ฝ่ายขาย การบริการ และการตลาดทั่วโลก บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์เปอเรชั่น กล่าว
ยอดจำหน่ายทั่วโลกในปี 2550 นับว่าเป็นสถิติที่ดีที่สุดอันดับที่สองบนหน้าประวัติศาสตร์ 100 ปีของจีเอ็ม และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่จีเอ็มมียอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกมากกว่า 9 ล้านคัน นับตั้งแต่ปี 2548 2549 และ 2550 และเป็นครั้งที่สี่เมื่อรวมกับสถิติในปี 2521
นับว่าสถานการณ์ในตลาดโลกของจีเอ็มในขณะนี้ ได้สร้างแรงผลักดันยอดขายให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดของประเทศที่กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เมื่อเทียบกับปี 2549 ยอดจำหน่ายทั่วโลกของเชฟโรเลตซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดของจีเอ็มนั้น เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 4 จาก 4.30 ล้านคันในปี 2549 เป็น 4.49 ล้านคัน ในปี 2550 ซึ่งเชฟโรเลตสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้ดีใน 3 ทวีปนอกอเมริกาเหนือ โดยผลงานที่ดีที่สุดเป็นของทวีปยุโรป ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 34 ด้วยยอดขาย 208,000 คัน ส่วนในละตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 23 ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโตขึ้นร้อยละ 22 ด้วยแรงหนุนจากเชฟโรเลต อาวีโอ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเชฟโรเลตในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี
ในปี 2550 จีเอ็มยังคงรักษาสถิติการจำหน่ายรถกระบะทั่วโลกไว้ด้วยจำนวน 3.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 33,000 คัน จากปี 2549 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 1 โดยเป็นรถกระบะจากเชฟโรเลต 1.96 ล้านคัน ส่วนแบรนด์จีเอ็มซี มียอดขาย 613,000 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6 เทียบกับจำนวน 579,000 คันในปี 2549 ด้านแบรนด์วู่หลิง ก็สามารถสร้างสถิติที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยยอดจำหน่ายรถกระบะ รถกระบะขนาดเล็ก และรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้น 516,000 คัน มีอัตราเติบโตร้อยละ 24 นอกจากนั้นในตลาดรถอเมริกัน จีเอ็มยังมีส่วนแบ่งการตลาดของรถกระบะขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.2 คิดเป็นยอดรวมร้อยละ 40.2 อีกด้วย
ส่วน คาดิลแลคยังคงรักษาความแข็งแกร่งของยอดจำหน่ายทั่วโลกนอกตลาดอเมริกาเหนือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ในยุโรป และร้อยละ 42 ในละตินอเมริกา แอฟริกาและตะวันออกกลาง แต่สถิติที่น่าประทับใจที่สุดยังคงเป็นผลงานจากเอเชียแปซิฟิกด้วยอัตราการเติบโตของยอดขายที่ทะยานขึ้นไปกว่าร้อยละ 106 ทีเดียว
สำหรับผลงานประจำปี 2550 ของซาบ ก็ไม่น้อยหน้าด้วยยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในละตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ตามมาด้วยร้อยละ 5 ในเอเชียแปซิฟิก ส่วนในยุโรป ซาบยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ร้อยละ 0.4 และด้วยการเพิ่มไบโอพาวเวอร์ให้กับรุ่น 9-3 ซึ่งทำให้ซาบครองความเป็นผู้นำตลาดสำหรับเครื่องยนต์ E-85 ในยุโรปต่อไป
ทั้งนิ้ สถิติที่โดดเด่นในด้านยอดจำหน่ายทั่วโลกของจีเอ็ม ประกอบด้วย ในปี 2550 จีเอ็มจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 9.37 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อน โดยในไตรมาสที่สี่มียอดขาย 2.31 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นยอดขายนอกสหรัฐอเมริกา 5.5 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 59 ของยอดขายทั่วโลก นับเป็นอัตราที่เพิ่มสูงกว่าการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมาก ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์โลกมีการขยายตัวของตลาดอย่างเห็นได้ชัด โดยมีจำนวนรถยนต์เกือบ 71 ล้านคันในตลาด
แบรนด์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรกของจีเอ็มในปี 2550 ได้แก่ อันดับหนึ่ง เชฟโรเลต จำนวนยอดขาย 4.9 ล้านคัน อัตราการเติบโตร้อยละ 4 อันดับที่สอง โอเปิล และ วอกซ์ฮอลล์ 1.69 ล้านคัน เติบโตร้อยละ 4 เช่นกัน ส่วนอันดับที่สาม คือจีเอ็มซี ด้วยยอดขาย 613,000 คัน เติบโตร้อยละ 6
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีเอ็มจำหน่ายรถยนต์ไปกว่า 1.43 ล้านคัน สร้างสถิติยอดขายทะลุ 1 ล้านคันติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยในประเทศจีน จีเอ็มมีอัตราการเติบโตถึงกว่าร้อยละ 18 โดยจำหน่ายได้ 382,000 คันในไตรมาสที่สี่ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี 2549 แซงหน้าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีน ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยจำนวนรถยนต์ 1.03 ล้านคันที่จีเอ็มจำหน่ายในจีนเมื่อปี 2550 ทำให้จีเอ็มกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่สร้างยอดขายเกิน 1 ล้านคัน ส่วนในอินเดีย จีเอ็มยังคงเดินหน้าสร้างสถิติใหม่ๆ ด้วยยอดขายที่มีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 74 ด้วยแรงผลักดันจากการเปิดตัวเชฟโรเลต สปาร์ค ผนวกกับความแรงอย่างต่อเนื่องของ เชฟโรเลต ทาวีรา อาวีโอ และออพตร้า
ส่วนในละตินอเมริกา แอฟริกา และภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น จีเอ็มทุบทุกสถิติด้วยยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จำนวน 1.23 ล้านคัน เติบโตจากปี 2549 ร้อยละ 19 และสร้างสถิติยอดจำหน่ายเกิน 1 ล้านคันเป็นครั้งที่สอง สำหรับไตรมาสที่สี่ของปีที่ผ่านมา จีเอ็มจำหน่ายรถยนต์ 341,000 คัน มีอัตราเติบโตที่ร้อยละ 18 ซึ่งการเติบโตของตลาดหลักในสามภูมิภาคดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบราซิลที่สร้างสถิติยอดจำหน่ายสูงสุดด้วยจำนวน 499,000 คัน ด้วยเชฟโรเลต 3 รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เชฟโรเลต คอร์ซา อาวีโอ และ เซลต้า
ในยุโรป จำนวนรถยนต์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดของจีเอ็มยังพุ่งทะยานเกิน 2.18 ล้านคันเป็นปีที่สอง ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 9 โดยมียอดขายในไตรมาสที่สี่ 529,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2549 และยังคงเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคเช่นกัน โดยเฉพาะยอดขายทั้งปีกว่า 250,000 คัน ของประเทศรัสเซีย ได้สร้างสถิติใหม่ด้วยอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 95 หรือเกือบสองเท่าของปี 2549 สำหรับแบรนด์โอเปิล ว็อกซ์ฮอลล์ เชฟโรเลต และคาดิลแลค ก็ยังมียอดจำหน่ายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรุ่นคอร์ซา แอสตร้า เมอริวา และ ซาฟิรา ที่ช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายให้แก่โอเปิลและวอกซ์ฮอลล์ขึ้นเป็นร้อยละ 4 โดยสถิติยอดจำหน่าย 458,000 คันนั้นเป็นของเชฟโรเลตที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 34 และคาดิลแลคตามมาที่ร้อยละ 45 ในขณะที่ซาบตามมาด้วยยอดจำหน่ายรวม 85,000 คัน
สถิติเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า รถยนต์แบรนด์ต่างๆ ในเครือจีเอ็มมีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ แบรนด์ระดับภูมิภาคอื่นๆ ของจีเอ็มที่มีผลงานโดดเด่นไม่แพ้กัน อาทิ
แซทเทิร์น มีอัตราการเติบโตของยอดขายในอเมริกาเหนือกว่าร้อยละ 8 ในปี 2550 โดยส่วนมากเป็นผลงานจากความนิยมในรุ่น ออรา 2007 ออรา ไฮบริด สกาย เอาท์ลุค วิว และ วิว กรีนไลน์ ไฮบริด
ด้วยตำแหน่งรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองในตลาดรถยนต์ออสเตรเลีย จีเอ็ม โฮลเด้น
มียอดจำหน่าย 158,000 คัน ในปี 2550 ด้วยแรงหนุนจากยอดขายที่ครองอันดับหนึ่งในประเทศออสเตรเลียติดต่อกันเป็นปีที่ 12 ของ คอมโมดอร์ และที่สำคัญ ในปี 2551 แบรนด์รถยนต์ที่พัฒนาขึ้นในออสเตรเลียเป็นรายแรกนี้จะมีอายุครบ 60 ปี
หมายเหตุ: ตัวเลขยอดจำหน่ายทั่วโลกอ้างอิงข้อมูลจากรายงานเบื้องต้น
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา (General Motors Corporations: GM) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้นำด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกถึง 76 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ปัจจุบันมีพนักงานทั่วโลกกว่า 270,000 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา และมีโรงงานผลิตรถยนต์และรถกระบะใน 33 ประเทศ ในปี 2549 จีเอ็มจำหน่ายรถยนต์และรถกระบะไปกว่า 9.1 ล้านคัน ภายใต้แบรนด์ บูอิค (Buick) คาดิแลค (Cadilac) เชฟโรเลต (Chevrolet) จีเอ็มซี (GMC) โฮลเดน (Holden) ฮัมเมอร์ (Hummer) โอลสโมบิล (Oldsmobile) โอเปิ้ล (Opel)
พอนทิแอค (Pontiac) ซาบ (Saab) ซาเทิร์น (Saturn) และวอกซ์ฮอล (Vauxhall) นอกจากนั้น ระบบนำทางและขอความช่วยเหลือด้วยสัญญาณดาวเทียม ออนสตาร์ (OnStar) ของจีเอ็ม ทำให้จีเอ็มกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้านความปลอดภัยและบริการด้านข้อมูลอีกด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจีเอ็ม โปรดคลิก www.gm.com