18 มี.ค. 2551
เจนเนอรัล มอเตอร์ส เปิดตัว Advanced Design Center
จีเอ็มผลิตยานยนต์แห่งศตวรรษใหม่ ด้วยทีมออกแบบและศูนย์ปฏิบัติการ ระบบอีเฟล็กซ์แห่งเดียวในโลก
มิชิแกน – เจนเนอรัล มอเตอร์ส เปิดตัวศูนย์การออกแบบแห่งใหม่เพื่อยานยนต์แห่งอนาคตที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า สตูดิโอโฉมใหม่ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์การออกแบบ Advanced Design Center ของจีเอ็มนี้เป็นเจ้าของผลงานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ “เชฟโรเลต โวลต์” ซึ่งเปิดตัวไปแล้ว ในงาน North American International Auto Show
ศูนย์การออกแบบ “ระบบอีเฟล็กซ์” (E-Flex Systems) ในมิชิแกนนี้มีหน้าที่พัฒนาและคิดค้นยานยนต์หลากหลายรูปแบบที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยระบบอีเฟล็กซ์ เริ่มจากรุ่นต้นแบบของเชฟโรเลต โวลต์ โดยศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นหน่วยงานเดียวในโลกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการคิดค้นและพัฒนายานพาหนะพลังไฟฟ้าโดยเฉพาะ
บ็อบ โบนิฟาซ ผู้อำนวยด้านการออกแบบของอีเฟล็กซ์ สตูดิโอ และเชฟโรเลต โวลต์ เป็นผู้ควบคุมทีมซึ่งประกอบด้วยนักออกแบบ ประติมากร วิศวกรออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ และทีมงานบริหาร ทั้งหมดราว 45 คน และยังเป็นผู้นำในการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกให้เชฟโรเลต โวลต์ กล่าวว่า “ทีมงานของเราประกอบด้วยนักออกแบบรุ่นใหม่และนักออกแบบที่มีประสบการณ์สูง ทุกคนล้วนเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น และมุ่งมั่น ทั้งยังมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำเช่นเดียวกับตัวผม พวกเราพยายามที่จะพัฒนาทางเลือกที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นคำตอบที่จะนำเราหลุดพ้นจากการพึ่งพาน้ำมัน และผลลัพธ์เบื้องต้นของสิ่งที่ผมกล่าวถึงก็คือเชฟโรเลต โวลต์ คันนี้”
เชฟโรเลต โวลต์ รถยนต์คันแรกที่ออกแบบโดยสตูดิโอแห่งใหม่ ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก สามารถวิ่งได้โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงเป็นระยะทางกว่า 64 กิโลเมตร เพียงพอต่อความต้องการถึง 2 ใน 3 ในการขับขี่แต่ละวันของประชากรอเมริกัน ตามข้อมูลอ้างอิงจากรัฐบาล รถยนต์ตระกูลอีเฟล็กซ์คันแรกนี้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าโดยมีแบตเตอรี่เป็นตัวจ่ายพลังงาน โดยสามารถประจุพลังงานใหม่ได้ในขณะที่รถยนต์วิ่ง จากการสันดาปของเครื่องยนต์ที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล หรือเอธานอล หรือจะประจุพลังงานง่ายๆ ด้วยการเสียบปลั๊กในบ้าน ขณะไม่ได้ใช้รถยนต์ก็ได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญที่ท้าท้ายทีมออกแบบก็คือการพัฒนาระบบแอโรไดนามิกส์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาให้รถยนต์ต้นแบบดำเนินกระบวนการต่อไปสู่การผลิตเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งการพัฒนาระบบแอโรไดนามิกส์นับเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งยวดในเป้าหมายหลายประการ ที่ใช้ประกอบการพิจารณาขั้นสุดท้ายก่อนการตัดสินใจผลิตจริง โดยทีมออกแบบต้องทำงานร่วมกับวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านแอโรไดนามิกส์ และนักวิทยาศาสตร์หลายคนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังงานของเชฟโรเลต โวลต์ ให้ดีที่สุดด้วยระบบแอโรไดนามิกส์
“สิ่งหนึ่งที่การออกแบบช่วยให้รถยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คือประโยชน์จากระบบแอโรไดนามิกส์ ซึ่งเกิดจากรูปทรงรถยนต์ การร่วมมือกันของนักออกแบบกับวิศวกรแอโรไดนามิกส์ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการประหยัดพลังงานหรือวิ่งได้ระยะไกลขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เราสามารถผลิตยานยนต์ที่มีรูปลักษณ์ดึงดูดสายตา ด้วยรูปทรงที่หลากหลายอีกด้วย” เอ็ด เวลเบิร์น รองประธานกรรมการฝ่ายการออกแบบทั่วโลกของจีเอ็ม กล่าว
โดยทั่วไป ระบบแอโรไดนามิกส์จะช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงลงเฉลี่ย 20 % โดยทีมนักออกแบบของจีเอ็มจะอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพื่อพัฒนาให้รถยนต์ของจีเอ็มทุกคันเป็นรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานทั้งหมด แท้ที่จริง จากความได้เปรียบของการออกแบบและความสามารถในการพัฒนาระบบแอโรไดนามิกส์ ทำให้จีเอ็มสามารถผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานให้กับตลาดมากกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ
ไม่ไกลจากสตูดิโอออกแบบระบบอีเฟล็กซ์แห่งใหม่ จีเอ็มได้ทำการทดลองด้านแอโรไดนามิกส์ขึ้น ณ ห้องปฏิบัติการแอโรไดนามิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคิดค้นยานพาหนะที่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ภายในห้องปฏิบัติการฯ ประกอบด้วยอุโมงค์ลมและพัดลมเพื่อการทดสอบด้านยานยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งสามารถสร้างกระแสลมจำลองในอัตราความเร็วกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมด้วยระบบบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time) ระบบแสดงผลตรวจวัดแรง ความเร็ว ความดัน อุณหภูมิ และเสียงของลมจำลอง
“ขณะนี้เราอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของยุคใหม่แห่งการออกแบบ ทีมงานของเราทุกคนพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนารถยนต์ที่จะประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น และพัฒนาให้รถยนต์ระบบไฟฟ้าวิ่งได้เป็นระยะทางที่ไกลขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้” เวลเบิร์น กล่าวสรุป
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา (General Motors Corporations: GM) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้นำด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกถึง 76 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ปัจจุบันมีพนักงานทั่วโลกกว่า 280,000 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา และมีศูนย์การผลิตรถยนต์และรถกระบะใน 33 ประเทศ ในปี 2549 จีเอ็มจำหน่ายรถยนต์และรถกระบะไปกว่า 9.1 ล้านคัน ภายใต้แบรนด์ บูอิค (Buick) คาดิแลค (Cadilac) เชฟโรเลต (Chevrolet) จีเอ็มซี (GMC) โฮลเดน (Holden) ฮัมเมอร์ (Hummer) โอลสโมบิล (Oldsmobile) โอเปิ้ล (Opel) พอนทิแอค (Pontiac) ซาบ (Sabb) ซาเทิร์น (Saturn) และว็อกซ์ฮอล (Vauxhall) นอกจากนั้น ระบบนำทางและขอความช่วยเหลือด้วยสัญญาณดาวเทียม ออนสตาร์ (OnStar) ของจีเอ็ม ทำให้จีเอ็มกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้านความปลอดภัยและบริการด้านข้อมูลอีกด้วย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจีเอ็ม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.gm.com และ www.gmnext.com