25 ก.ค. 2550

แก๊สโซฮอล ที่ท่านยังข้องใจ ?







แก๊สโซฮอล 91 หรือ 95 หลายท่านยังไม่แฮปปี้กับมันนัก อยากมีทางเลือก ไม่ใช่การบังคับให้ใช้ ดังมีเว็บไซต์เรื่องนี้โดยเฉพาะเกิดขึ้นเพื่อให้มีการโหวต ปรากฎว่ากว่า 80 เปอร์เซนต์ ยังต้องการเป็นผู้เลือกใช้เอง ไม่ใช่บังคับให้ใช้ โดยมีแต่แก๊สโซฮอลอย่างเดียว

ลองเข้าไปดูที่ http://www.gasoline95.com/content/view/17/lang,en/

จากการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล ตามปั๊มทั่วไปทั้งในกทม. และต่างจังหวัด บางแห่งพบว่าเครื่องยนต์มีรอบที่ไม่คงที่ ส่วนมากอาการรอบเครื่องตกจะเกิดขึ้น หากใช้ แก๊สโซฮอล์ 91

จึงมีผู้ใช้รถอีกมากที่พยามยามมองหาปั๊มที่มีเบนซินที่ไม่ใช่แก๊สโซฮอลกันอยู่ ถึงขนาดบางทีขับเข้าปั๊มไปแล้ว รีบเผ่นเมื่อตามหัวปั๊มไม่มีสิ่งที่ต้องการ

****************************************
สั้น ๆ กับ “แก๊สโซฮอล์”
****************************************
(หมายเหตุ ข้อมูลเรียบเรียงจากเว็บ ptt)
***************************************
"แก๊สโซฮอล์" น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้ จากการผสมระหว่าง เอทานอล หรือที่เรียกว่า เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) ซึ่งเป็น แอลกอฮอล์ บริสุทธิ์ 99.5% โดยปริมาตร ผสมกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 91 (ชนิดที่มีคุณสมบัติบางตัวต่างจากเบนซิน 91 ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน) ในอัตราส่วนเบนซิน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน จึงได้เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงาน
เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันและปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ จึงทรงมีพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ศึกษาถึงการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ โดยการนำแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้นี้มาผสมกับน้ำมันเบนซินผลิตเป็นน้ำมัน "แก๊สโซฮอล์" (Gasohol) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน
ความเป็นมาของ "แก๊สโซฮอล์" ในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2529 ทางโครงการส่วนพระองค์ได้เริ่มผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย หลังจากนั้นได้มีหน่วยงานรัฐและเอกชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาแอลกอฮอล์ที่ใช้เติมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี พ.ศ. 2539 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) และโครงการส่วนพระองค์ ได้ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพแอลกอฮอล์ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยการนำแอลกอฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์ผลิตได้ที่มีความบริสุทธิ์จากเดิม 95% ไปกลั่นซ้ำเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% แล้วจึงนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ในอัตราแอลกอฮอล์ 1 ส่วน กับเบนซิน 9 ส่วน เป็นน้ำมัน "แก๊สโซฮอล์" ทดลองเติมให้กับรถเครื่องยนต์เบนซินของโครงการส่วนพระองค์
ปัจจุบัน รถเครื่องยนต์เบนซินของโครงการส่วนพระองค์ ได้เติมแก๊สโซฮอล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา รวมทั้ง ปตท. เริ่มเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการให้กับประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2544 ณ สถานีบริการ ปตท. บริเวณที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ ปตท.
การผสมแอลกอฮอล์ลงในน้ำมันเบนซินในข้างต้น เป็นในลักษณะของสารเติมแต่งปรับปรุงค่า Oxygenates และออกเทน (Octane) ของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถใช้ทดแทนสารเติมแต่งชนิดอื่นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ Methyl-Tertiary-Butyl-Ether (MTBE)
อนึ่ง เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ เป็น แอลกอฮอล์ ที่ได้จากการแปรรูปจากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ
แก๊สโซฮอล์ (ปตท)จำหน่ายขณะนี้มีออกเทน 95 (สีส้ม) และมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีความเหมือนกันในด้านการใช้งานกับรถยนต์ที่ต้องการออกเทน 95 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทุกรุ่นที่มีระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีด (ไม่แนะนำให้ใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าที่มีระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์) แก๊สโซฮอล์ยังยังคงมีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ข้อกำหนด ได้แก่
ค่าออกเทน ไม่ต่ำกว่า 95.0 ค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินจะบ่งถึงคุณภาพในการต้านทานการน็อค หรือ ความสามารถของน้ำมันเบนซินที่จะเผาไหม้โดยปราศจากการน็อคในเครื่องยนต์
ค่าความดันไอ ไม่สูงกว่า 65 kpa. ค่าความดันไอเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสามารถในการระเหย ซึ่งจะมีผลต่อการสตาร์ทเครื่องยนต์
สำหรับคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนี้ แก๊สโซฮอล์จะมีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ทุกประการ ยกเว้นสาร Oxygenate Compound ที่กำหนดให้มีการเติมในน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
ออกเทน 95 ในปริมาณ 5.5 - 11% Vol. ซึ่งโดยทั่วไปในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ใช้ในตลาดปัจจุบัน จะเติม MTBE (Methyl tertiaryl Butyl Ether) แต่ในแก๊สโซฮอล์จะใช้ Ethyl Alcohol 99.5% ทดแทนในปริมาณ 10-11 % ซึ่งจะยังคงทำให้คุณสมบัติในการใช้งานกับเครื่องยนต์เหมือนกันกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ทุกประการ
* รถยนต์สามารถเติมแก๊สโซฮอล์ผสมกับน้ำมันที่เหลืออยู่ในถังได้เลย โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันในถังหมด และผู้ใช้รถไม่ต้องดำเนินการปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใดเพราะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และมีคุณสมบัติทำให้เกิดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์
ผลการวิเคราะห์
โดยวิธี t-test พบว่า การใช้ gasoline และ gasohol ให้อัตราเร่งที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
สรุปผลการศึกษา (เรื่อง ผลกระทบต่อระบบจ่ายเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์)

การเติม Ethanol ในน้ำมันเบนซิน มีผลต่อคุณสมบัติบางประการของวัสดุประเภทยางที่ใช้เป็นระบบเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์มากกว่า การเติม MTBE ในน้ำมันเบนซินเล็กน้อยแต่ไม่มีผลกระทบต่อระบบการจ่าย น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าเครื่องยนต์ (Fuel Supply)
การเติม Ethanol ในน้ำมันเบนซิน มีผลต่อคุณสมบัติบางประการของวัสดุประเภทพลาสติก ที่ใช้เป็นระบบเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ โดยให้ผลใกล้เคียงกับการเติม MTBE ในน้ำมันเบนซิน
การเติม Ethanol ในน้ำมันเบนซิน ไม่มีผลต่อคุณสมบัติของโลหะทดสอบ ยกเว้นสีพื้นผิวของทองแดง และทองเหลือง แต่ไม่มีผลการใช้งาน

******************************************************

ประสบการณ์ เรื่องแก๊สโซฮอล
******************************************************
กว่ายี่สิบปีมาแล้ว ขณะนั้นมีหน่วยราชการของกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำรถเฟี๊ยต 131 มาทดสอบกับแก๊สโซฮอล โดยใช้ส่วนผสม 80/20 ผมมีโอกาสได้ทดสอบรถคันนั้นอยู่อาทิตย์หนึ่ง โดยขับในกรุงเทพฯเป็นส่วนมาก ขณะนั้นปั๊มน้ำมันมีแต่เบนซินธรรมดา กับซุปเปอร์ ซึ่งจำค่าอ๊อกเท็นนัมเบอร์ไม่ได้แล้วว่าเท่าไหร่

หัวหน้ากองท่านหนึ่ง ให้แอลกอฮอล์ 100 เปอร์เซ็นต์ มา 1 ปีบ 20 ลิตร ก็เติมผสมกับเบนซินไปจนเกลี้ยง

รถที่ใช้ทดสอบเป็นเครื่องคาร์บูเรเตอร์ที่ปรับองศาการจุดระเบิดให้เหมาะกับส่วนผสมเรียบร้อย เวลาขับจะได้กลิ่นเหมือนโรงเหล้า

เป็นกลิ่นเดียวกับที่เคยได้กลิ่นไอเสียรถที่เติมแก๊สโซฮอลปัจจุบัน เพียงแต่แรงชัดเจนมาก

เพราะสัดส่วนมากถึง 20% ไม่ใช่นิดหน่อยเหมือนปัจจุบัน

ขณะใช้ทดสอบเนื่องจากเป็นรถใหม่ อาการต่าง ๆ ไม่ผิดปรกติ ไม่เคยดับ และจะสตาร์ตง่าย

วันหนึ่งได้ไปสาธิตออกรายการข่าวทีวี ที่ลานพระรูปทรงม้า มีทีวีมาถ่ายทำข่าวด้วย

มีนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ มาดูหลายท่าน รวมทั้งอาจารย์ที่สอนผมที่เทคนิกกรุงเทพฯ (เรียนเมื่อ พ.ศ. 2517 ปีเดียว) ก็มาดูด้วย ผมยังแอบดีใจที่อาจารย์มาดู คงไม่คิดว่าจะมาเจอลูกศิษในเวลาแปลก ๆ อย่างนั้น

ในการสาธิต ได้นำกระบอกตวงแบบห้องแล็ปมาตวงกันจะ ๆ ในสัดส่วน 20 % เมื่อผสมเสร็จก็นำใส่ขวดเล็ก ๆ ต่อสายลงคาร์บูเรเตอร์ แล้วขับออกไปทันที วนรอบ ๆ ลานพระรูปทรงม้า สองสามรอบ เป็นจบพิธี

ผมมานึกได้เมื่อภายหลัง เหตุที่เขาวานสื่ออย่างผมเป็นผู้สาธิต คงเป็นเพราะว่าเป็นคนกลาง เดี๋ยวจะหาว่ากระทรวงอุตสาหกรรมโม้ หัวหน้ากองโรงงานอุตสาหกรรมเลยวานผมทำแทน

***************************************************
ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเมล์ผมได้ครับ
ongard.wangsai@gmail.com