29 มิ.ย. 2550
รถไทย สมควรจะมี ?
บันทึก เมื่อเดือน สิงหาคม 2547
รถไทย สมควรจะมี
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์บอกว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก และฝันอยากจะก้าวให้ถึงอันดับที่ 14 ในปี 2549 โดยสามารถผลิตรถได้รวม 1 ล้านคัน
เมื่อถึงปี 2553 ก็ฝันว่าจะก้าวขึ้นสู่ระดับท็อปเทน โดยมีเป้าหมายจะต้องผลิตรถได้ถึง 1.8 ล้านคัน
ภาครัฐบาลจึงออกแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในระดับแนวหน้าของเอเชีย โดยไม่เน้นว่าจะมีรถเป็นยี่ห้อของไทยเอง แต่อาศัยยักษ์ใหญ่ทั้งหลายร่วมลงทุน แล้วต่างร่วมผลิตรถในฝันนี้ออกมา
ที่ผ่านมามีการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทข้ามชาติมาทำโรงงานประกอบรถยนต์ในบ้านเรา จนกระทั่งใน
ปี 2546 เราสามารถผลิตรถได้ทั้งหมด 755,512 คัน ส่งออก 235,022 คัน นอกนั้นขายในประเทศ มีทั้ง ญี่ปุ่น ฝรั่งยุโรป พวกอเมริกัน
แต่การแข่งขันยังไม่ได้ทำให้ราคารถในประเทศไทยถูกลง เพราะมีเงื่อนไขมากมายในการผลิต ซึ่งปัจจุบันเน้นเรื่องการทำชิ้นส่วนในประเทศระดับไม่ไฮเทคมากนัก และการใช้แรงงานในการประกอบ ก็ต้องยอมรับกันว่าผลประโยชน์ตกกับคนไทยมากเหมือนกัน
ถึงวันนี้เจ้าของเทคโนโลยี่และผู้ผลิตเครื่องมือไฮเทคได้เข้ามาตั้งหลักโชว์ และขายของที่น่าจะเป็นความลับ หรือทีเด็ดกันมากขึ้น ประเภทเครื่องขึ้นรูปชิ้นงานละเอียด เครื่องเจาะโลหะที่ซับซ้อน เช่นเจาะรูเล็ก ๆ ประเภทรูหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ลองคิดดูซิว่าสว่านแบบไหนจึงจะเจาะรูเล็ก ๆ ในเนื้อโลหะที่แข็งมาก ๆ อย่างนี้ได้
นี่คือความยาก หรือไม้ตายของประเทศอุตสาหกรรมที่เขาผ่านการพัฒนามานานนับร้อยปี หากเราจะเริ่มตอนนี้ ไม่ต้องใช้เวลามากถึงขนาดนั้น ขอเพียงใจที่ตั้งมั่น /จริงจัง และมีแผนที่แน่นอน ก็จะบรรลุผลได้
เดี๋ยวนี้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเขาก้าวขึ้นสู่ระดับนาโนเทคโนโลยี่ที่ใช้ความรู้ระดับสูงลิบกันแล้ว
กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมระดับแนวหน้า พวก “จี-7, จี-8” กำลังบินสูงเหนือเมฆขึ้นไปอีกหลายชั้น หากเราไม่พัฒนาตัวเอง ก็จะเป็นได้แค่ผู้ใช้แรงงานในการผลิตเท่านั้น
วางแผน/มีโครงการที่ชัดเจน ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองเสียใหม่ โดยพัฒนาจิตสำนึก อาจใช้หลักเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณให้เข็มแข็งก่อนเป็นอันดับแรก แล้วการผลิตรถประเภท อีโค คาร์ หรือรถเล็กทรงประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง พร้อมกับรถในกลุ่มเดียวกันจากการร่วมลงทุนโดยผู้ผลิตรถหลากหลายที่มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ก็จะประสบผลสำเร็จ รถในฝันเหล่านั้นนอกจากใช้กันในบ้านเราแล้ว ก็สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดโลกได้
นี่คือผลที่จะได้จาก 1 ใน 5 ของยุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมไทย มีข้อแม้ว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายต่อเนื่องไม่ขาดตอน
..สินค้าไฮเทคที่เราเห็นว่าเป็นความฝัน ก็จะกลายเป็นความจริงได้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสได้เป็นเจ้าของรถใหม่กันบ้าง
องอาจ วังซ้าย
************************************************
เหตุการณ์ปัจจุบันเมื่อ สองวันที่ผ่านมา
************************************************
ข่าวในประเทศ - ค่ายยักษ์ “โตโยต้า” ส่งสัญญาณขอความชัดเจนกรอบเงื่อนไขอีโคคาร์ หวังหาช่องทำคลอดอีโคคาร์ให้เข้าทางตัวเองมากที่สุด โดยล่าสุดจับไต๋ได้ 2 แนวทาง คือขึ้นไลน์ผลิตใหม่ ด้วยการใช้แฟลตฟอร์มของ โตโยต้า วีออส-ยาริส พัฒนาให้เป็นอีโคคาร์ แต่ยังคาใจตัวเลขการผลิต 1 แสนคันต่อปี ในปีที่ 5 ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ จึงเตรียมบุกบีโอไอขอคำตอบจะนำตัวเลขการผลิต “วีออส-ยาริส” มารวมได้หรือไม่ พร้อมรุกถามต่อหากนำเข้ารถเล็กขนาด 1.3 ลิตร จากประเทศอาเซียนตามข้อตกลงอาฟต้า สามารถใช้สิทธิประโยชน์เสียภาษีสรรพสามิต 17% ได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางที่ตอกย้ำกระแสข่าว โตโยต้าไม่หนุนอีโคคาร์ เพราะได้ลงทุนผลิตรถเล็กในอินโดนีเซียและมาเลเซียไปแล้ว และเตรียมจะส่งออกมายังไทย ซึ่งหมายถึง “โตโยต้า พาสโซ่” หรืออาจจะเป็น “Perodua Myvi” รถเล็กที่ใช้พื้นฐานของพาสโซ่ ที่หากนำเข้ามาจะแปลงร่างเป็นแบรนด์ “โตโยต้า” บุกตลาดไทย แต่หากไม่สำเร็จทุกแนวทาง โตโยต้าพร้อมที่จะนำรถเหล่านี้ มาชนกับอีโคคาร์ได้อย่างสบาย หลังเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลงอาฟต้าในปี 2553
โตโยต้า พาสโซ่ ที่ทำตลาดอยู่ในอินโดนีเซียปัจจุบัน อาจจะเป็นตัวเลือกของโตโยต้า ในการนำมาพัฒนาเป็นอีโคคาร์ หรือถูกนำเข้ามาทำตลาดในไทยก็ได้
การมีมติเห็นชอบอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ ของคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประกาศกำหนดเกณฑ์ของอีโคคาร์ เพื่อขอสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ทำให้การแจ้งเกิดอีโคคาร์ที่ยืดเยื้อมานาน 4-5 ปี ใกล้ความเป็นจริงแล้วเกือบ 100% เหลือเพียงรายละเอียดปลีกย่อย และการออกเป็นกฏกระทรวงอย่างเป็นทางการเท่านั้น และรอวันที่จะมีผลบังคับใช้ 2 ตุลาคม 2552 เท่านั้น
เรื่องดังกล่าวได้ทำให้บริษัทรถยนต์บางค่ายยิ้มแป้นทันที แต่บางยี่ห้อก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับเงื่อนไขหลายข้อของอีโคคาร์ แต่เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจและรัฐบาลมีมติเห็นชอบเช่นนี้ ทุกยี่ห้อที่สนใจจะผลิตอีโคคาร์ก็ต้องยอมรับ และปรับตัวให้เข้ากับกรอบอีโคคาร์ให้ได้ หรือไม่ก็ต้องยกธงขาวยอมแพ้ไปเลย
แน่นอนยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ย่อมไม่ยอมยกธงขาวง่ายๆ แน่ แม้จะไม่มีแผนที่ชัดเจนในการผลิตอีโคคาร์ หรือรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เช่นเดียวกับค่าย “ฮอนด้า” ที่กำลังพิจารณาเลือกไทยเป็นฐานการผลิตรถประเภทนี้อยู่แล้ว การประกาศสนับสนุนให้เกิดอีโคคาร์ จึงส่งผลดีต่อและทำให้ฮอนด้าได้เปรียบเป็นอย่างมาก
ในฐานะผู้นำโตโยต้าย่อมไม่ยอมสูญเสียตลาด ให้คู่แข่งได้เก็บก้อนเค้กไปกินเพียงฝ่ายเดียวแน่ เหตุนี้จึงต้องพยายามหาสินค้าที่มีอยู่ในตลาด นำมาผลิต หรือพัฒนาให้ตรงกับเงื่อนไขของอีโคคาร์ให้ได้ ซึ่งนับจากที่มีการประกาศกรอบของอีโคคาร์ออกมา เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า พอจับสัญญาณแนวทางที่จะคลอดอีโคคาร์ออกมาได้ 2 ช่องทางด้วยกัน
เริ่มจากแนวทางแรกที่ได้รับการเปิดเผยออกมา ตั้งแต่กรอบเงื่อนไขอีโคคาร์ยังไม่ชัดเจน โดย “มิทซึฮิโระ โซโนดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า……
“ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีจะประกาศเงื่อนไขอะไรออกมา โตโยต้าจะเป็นยี่ห้อที่พร้อมผลิตอีโคคาร์ออกมา โดยอาจจะใช้รุ่นเดิม โตโยต้า ยาริส และวีออส แล้วเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ได้ตามกำหนด หรือใช้แพลตฟอร์มของรถดังกล่าวมาพัฒนาให้เป็นอีโคคาร์”
ชัดเจนไม่ต้องแปลให้มากความ จากคำกล่าวของบอสใหญ่ โตโยต้า ถึงแนวคิดที่จะพัฒนาอีโคคาร์จากพื้นฐานตัวถัง หรือแพลตฟอร์มของ โตโยต้า วีออส และโตโยต้า ยาริส ซึ่งทั้งสองรุ่นใช้แพลตฟอร์มร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งไม่เพียงโตโยต้าไม่ต้องพัฒนารถใหม่หมด ยังทำให้อีโคคาร์มีต้นทุนลดลงอย่างมาก นอกจากการสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขอีโคคาร์
ในส่วนของเครื่องยนต์ยิ่งไม่น่าห่วงนัก เพราะโตโยต้า ยาริส มีเครื่องยนต์ที่มีขนาดตามกรอบกำหนดของอีโคคาร์ ทำตลาดอยู่แล้วในยุโรป ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน 1300 ซีซี และเครื่องยนต์ดีเซล 1400 ซีซี และยังมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับที่กำหนด 20 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร จึงไม่ยากที่โตโยต้าจะพัฒนาให้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
แต่โตโยต้าก็ยังมีความเป็นห่วงหากจะทำการผลิตในไทย เพราะตามเงื่อนไขขอสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ครบก่อนรับสิทธิประโยชน์เสียภาษีสรรพสามิต 17% โดยจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นแพ็กเกจทั้งโครงการไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และต้องผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ 4 ใน 5 ส่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่โตโยต้าต้องคิดให้รอบคอบ
“โตโยต้าเป็นห่วงเงื่อนไขที่กำหนดให้ผลิต 1 แสนคัน ในปีที่ 5 เนื่องจากประเทศในอาเซียน หรือประเทศที่นิยมรถประเภทนี้ ต่างผลิตกันอยู่แล้ว จึงไม่มั่นใจว่าอีโคคาร์จะเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดได้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งอีโคคาร์เป็นรถขนาดเล็กไม่เหมือนปิกอัพ ที่ตลาดค่อนข้างกว้าง และจากการวิจัยของโตโยต้าพบว่า รถขนาด 1300 ซีซี ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก”
นั่นคือคำกล่าวของ “ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ซึ่งดูแลการวางแผนการผลิตรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมกับยกตัวเลขสนับสนุนว่า….. “ปัจจุบันโตโยต้ามีการผลิตรุ่นวีออส ทำตลาดในไทยและส่งออกไปยังประเทศอาเซียนได้เพียงปีละ 60,000 – 70,000 คันเท่านั้น หากจะผลิตอีโคคาร์ให้ได้ครบแสนคันในปีที่ 5 อีโคคาร์ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะหาตลาดที่ไหนมารองรับ”
จากปัญหาเรื่องปริมาณการผลิต ทำให้โตโยต้าพยายามส่งสัญญาณ ขอคำตอบจากบีโอไอถึงความเป็นไปได้หรือไม่? หากจะนับรวมรถขนาด 1500 ซีซี จากการประกอบโตโยต้า วีออส และยาริส ไปรวมกับอีโคคาร์ขนาด 1300 ซีซี เพื่อให้บรรลุตามเงื่อนไขกำหนดต้องผลิตรถให้ได้ 100,000 คันต่อปี ในปีที่ 5 ของโครงการอีโคคาร์เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม หากแผนการผลิตในไทยไม่สามารถบรรลุได้ตามต้องการ หรือเห็นว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนแน่นอน โตโยต้ายังมีอีกแผนที่พยายามนำเสนอเป็นโมเดลความคิด เพื่อหาทางออกให้ตัวเองได้สามารถแจ้งเกิดอีโคคาร์ในไทยได้สำเร็จ โดยภายหลังจากการประกาศเงื่อนไขสนับสนุนอีโคคาร์ของบีโอไอ ศุภรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า…..
“ในการเข้าหารือกับบีโอไอสัปดาห์นี้ โตโยต้าจะขอความชัดเจนเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตที่จะได้รับ 17% เพราะหากมีการนำเข้ามาจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา ที่จะได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 5% โดยอยากทราบว่ารถยนต์ที่นำเข้ามามีขนาดเครื่องยนต์ 1300 ซีซี จะได้รับสิทธิภาษีสรรพสามิต 17% ด้วยหรือไม่?”
Perodua Myvi รถเล็กจากมาเลเซีย ที่พัฒนามาจากรุ่นพาสโซ่
ชัดเจนไม่ต้องแปลอีกเช่นกัน โตโยต้าพยายามมองหาช่องทางอื่นๆ ที่อาจจะไม่ต้องผลิตรถในไทย ด้วยเปลี่ยนเป็นนำเข้าจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนแทน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่โตโยต้าไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงอีโคคาร์ เพราะไม่ได้มีแผนผลิตรถประเภทนี้ในไทย แต่ได้ลงทุนขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อส่งออกทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว
และหากย้อนกลับไปมองความเคลื่อนไหวของโตโยต้าในภูมิภาคอาเซียน จะเห็นว่ามีการส่งสัญญาณออกมาชัดเจนพอสมควร โดยเมื่อประมาณปี 2004 โตโยต้าได้ร่วมกับพันธมิตร “ไดฮัทสุ” พัฒนารถยนต์ขนาดเล็กสู่ตลาด ภายใต้ชื่อ “โตโยต้า พาสโซ่” และ “ไดฮัทสุ บุน” พร้อมส่งทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับรายละเอียดของโตโยต้า พาสโซ่ เป็นรถยนต์แฮทช์แบ็ก 5 ประตู มีเครื่องยนต์มีให้เลือก 2 ขนาด 1,300 ซีซี รหัส K3-VE 90 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 12.6 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบต่อนาที มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 18 กิโลเมตรต่อลิตร และเครื่องยนต์ 1,000 ซีซี รหัส 1KR-FE 71 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 9.6 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบต่อนาที มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 21 กิโลเมตรต่อลิตร
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกของโตโยต้า
นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า โตโยต้าอาจจะนำเข้ารถขนาดเล็กจากมาเลเซีย “Perodua Myvi” ซึ่งเป็นรถพื้นฐานเดียวกับ โตโยต้า พาสโซ่ และบุนของไดฮัทสุ โดยใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ 1000 ซีซี ที่ใช้ระบบวาล์วแบบ Dynamic Variable Valve Timing และเครื่องยนต์ 1300 ซีซี 4 สูบ ที่ใช้ใน โตโยต้า อแวนซ่า ซึ่งรถรุ่นนี้ได้มีการประกอบและส่งทำตลาดในมาเลเซียตั้งแต่กลางปี 2005 ในราคาประมาณกว่า 3.8 แสนบาท และตามแผนที่ประกาศออกมา รถรุ่นนี้ยังมีเป้าหมายที่ถูกจะส่งออกไปทำตลาดยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่จะถูกส่งมาทำตลาดภายใต้ชื่อแบรนด์ “โตโยต้า”
แต่ดูเหมือนเรื่องนี้คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะเงื่อนไขของบีโอไอชัดเจนแล้วว่า จะต้องผลิตและชิ้นส่วนในไทย ด้วยมูลค่าลงทุนรวมทั้งโครงการไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สองสัญญาณแผนทำคลอดอีโคคาร์โตโยต้าในไทย จะเป็นผลิตในไทยโดยใช้พื้นฐานของโตโยต้า วีออส และยาริส มาพัฒนาเป็นอีโคคาร์ ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นเรื่องดีต่อประเทศไทย แต่หากไม่สำเร็จและเลือกใช้วิธีนำเข้าแทน ไม่ว่าจะสามารถสวมสิทธิ์อีโคคาร์ได้หรือไม่? “โตโยต้า” สามารถบุกตลาดรถเล็กได้สบายๆ โดยอาศัยสิทธิประโยชน์อาฟต้า โดยไม่ต้องง้อโครงการอีโคคาร์เลยก็ได้!!