6 ส.ค. 2550
เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทางแก้ของรถเก่าที่เครื่องโทรม
เปลี่ยนเครื่องยนต์
…10000 rpm
ไม่น่าเชื่อว่ารถใหม่ก็มีคนเปลี่ยนเครื่องยนต์ ออกจากโชว์รูมเลี้ยวเข้าอู่เปลี่ยนเป็นเครื่องที่หมายตาไว้ ส่วนมากจะเป็นเครื่องยนต์ที่สมรรถนะโดยรวมดีกว่าเครื่องติดรถ เพียงต้องการตัวถังกับช่วงล่าง และรุ่นที่ดูแล้วชอบ แต่เมื่อขับแล้วไม่สะใจ จึงต้องเอาไปผ่าตัดทั้ง ๆ ที่ยังสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์
ทำแบบนี้หลายท่านอาจบอกว่ามากไปหน่อย แต่มีคนทำแล้วจริง ๆ ทั้งปิคอัพดีเซล เปลี่ยนเป็นเครื่องเบนซินที่แรงกว่า ประเภทเทอร์โบ อินเตอร์คูลเล่อร์ สามร้อยกว่าแรงม้า พร้อมเกียร์ 6 สปีด เมื่อเทียบกับเครื่องเทอร์โบดีเซล 2500 ซีซี. เกียร์ติดรถ 5 สปีด มันเทียบกันไม่ได้ แม้ว่าจะต้องปรับปรุงช่วงล่าง และเบรกก็ยอม เรื่องเสียเงินเสียทองไม่ต้องพูดถึง
นักนิยมความแรงเรียกว่า “ได้” มากกว่า “เสีย” แล้วเราก็จะเห็นรถบางคันวิ่งเร็ว อัตราเร่งยอดเยี่ยม อย่าได้เผลอไปประกบคู่ โดยเฉพาะรุ่นเดียวกันที่เป็นสแตนดาร์ด รีบ ๆ ชิดซ้ายเสียดี ๆ
อู่เปลี่ยนเครื่องปัจจุบันมีมากมาย ตั้งหน้าตั้งตาเปลี่ยนลูกเดียว ไม่มีการซ่อมรถระบบอื่น ๆ ออกจะเป็นธุรกิจที่ดีกว่าอู่ซ่อมทั่วไปเสียด้วยซ้ำ เพราะคนที่เอารถมาเปลี่ยนนั้นมีเงิน มีงบอยู่เต็มอัตรา ด้วยว่าอยากได้ของดี มักเร่งให้เสร็จเร็ว ๆ เพราะอยากขับ
เครื่องยนต์มีให้เลือกหลากรุ่น หากเป็นรถเก่า รถบ้านก็จะนิยมเปลี่ยนเครื่องใกล้เคียงของเดิม หรือเดิม ๆ ไปเลย ถ้าเป็นประเภทแท็กซี่ ส่วนพวกวัยรุ่นก็จะต้องเลือกเครื่องที่แรงที่สุดเท่าที่งบในกระเป๋าจะอำนวย
เครื่องยนต์ใช้แล้วมีขายมากมาย ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ตั้งกำแพงภาษี ไม่เหมือนประเภทคอมเพรซเซอร์แอร์ ที่ห้ามนำเข้าของเก่าเสียแล้ว จะสังเกตได้ว่าเดี๋ยวนี้ราคาคอมฯแพงขึ้น เป็นคอมฯเหลือในสต็อต หรือบางทีก็กักตุนเอาไว้ ตั้งแต่ได้ข่าว เพราะมีคนในรัฐบาลมีโรงงานทำคอมฯ นั่นเอง
เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ตัวถัง จากเซียงกงก็คือรถปลดระวางจากญี่ปุ่น อาจเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุ หรือรถที่ไม่ต้องการซ่อมเพื่อต่อภาษีเมื่อใช้ผ่านไปหลาย ๆ ปี ที่ญี่ปุ่นมีกฎกติกาในการใช้รถเข้มงวดมาก เริ่มตั้งแต่ต้องมีที่จอด
รถเป็นของตนเองก่อน แล้วแต่ละช่วงการต่อทะเบียนจะมีหลักการปรับปรุงรถให้มั่งคงปลอดภัย และมีค่าธรรมเนียมแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายไม่คุ้มที่จะซ่อม
พวกเขาใช้รถกันไม่มาก ไม่ถึงแสน กม. บางที่ก็ปลดระวาง ซื้อรถใหม่ดีกว่า
ญี่ปุ่นจึงมีแต่รถใหม่ รถขยะ ๆ อะไหล่ขยะ ๆ กระจายไปทั่วโลก ที่อเมริกา มีบริษัทรีบิวล์เครื่องยนต์โดยเฉพาะ ขายเป็นล่ำเป็นสัน พวกฝรั่งอเมริกันนักทำสงครามจะเอาเครื่องจากญี่ปุ่น หรือเครื่องของพวกเขาเองมาปรับแต่ง ทำภายในให้ดี เปลี่ยนอุปกรณ์ที่จำเป็น หากหลวมก็เปลี่ยนกระบอกสูบ เปลี่ยนแหวนลูกสูบ ตีปลอกสูบใหม่ ปรับระบบวาล์ว ทำบ่าวาล์วใหม่ เปลี่ยนสายพานราวลิ้นใหม่ เรียกว่าเกือบ ๆ จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ บางทีก็เพิ่มเติมชิ้นส่วนที่ดีกว่าเข้าไปหากเครื่องรุ่นนั้น ๆ มีจุดอ่อน
การเปลี่ยนเครื่องยนต์มีทำกันหลายประเทศ คงเว้นบางประเทศที่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยเข้มงวด เช่นในประเทศญี่ปุ่นเครื่องแรงอย่างไร พวกเขาก็มีกฎตายตัวว่าต้องไม่เร็วกว่า 180 กม./ชม. เรื่องจะโมดิฟายเครื่องโดยยกเอาเครื่องแบบนั้นแบบนี้มาลง คงยุ่งยากมาก
การทดสอบรถนำเข้าหลาย ๆ คัน จากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถกระป๋องคันเล็ก ๆ ประเภทรถจ่ายตลาด หรือรถเอสยูวี เครื่อง 3000 ซีซี เทอร์โบ พลังกว่า 300 แรงม้า ก็วิ่งเร็วสุด 180 กม./ชม. เท่า ๆ กัน
จะผิดกันที่อัตราเร่งที่ต่างกันลิบลับ และคงไม่มีใครซื้อรถราคาแพง ๆ ประเภทสปอร์ตมาขับแบบค่อย ๆ ไป
สังเกตให้ดี ๆ มีคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะวัยจ๊าบทั้งหลายซ่าบนถนนกันมากเหมือนกัน โชว์อัตราเร่งกันจะ ๆ
การเลือกซื้อเครื่องยนต์ด้วยตัวเองหากทำได้ก็จะประหยัดเงินได้มาก ต้องขยันขับรถไปดูตามแหล่งเซียงกงหลาย ๆ แห่ง ที่กระจายอยู่ตามชานเมือง ท่านที่ชอบท่องเน็ทจะได้เปรียบ เพราะมีเว็ปไซท์เกี่ยวกับเซียงกงโดยเฉพาะ มีราคากลางให้เสร็จ แต่หากเดินดูด้วยตัวเองจะพบว่าเครื่องรุ่นเดียวกัน จากรถปีเดียวกันราคาต่างกันเป็นหลักหมื่นก็มี ร้านที่เป็นผู้นำเข้ามาเอง ไปตัดจากญี่ปุ่นเอง มีโกดัง มีของมาก ๆ จะถูกกว่า
บางแห่งไม่รับรอง ซื้อไปแล้วต้องเสี่ยงเอาเอง แต่หลายแห่งให้ความมั่นใจโดยรับเปลี่ยนให้เองโดยรับรองเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ใหม่ หรือบางแห่งก็ซ่อมจุดที่บกพร่องให้ ทางที่ดีควรเลือกประเภทยกลงเปลี่ยนใหม่จะดีกว่า ไม่ควรเลือกประเภทยำเครื่องยนต์ เพราะเมื่อยำแล้วคงมีความหลากหลาย ผลออกมามันไม่แซบเหมือนกับอาหารประเภทยำทั้งหลายแน่ ๆ
กรรมวิธีในการเลือกเครื่องยนต์นั้นหากไม่สันทัดก็ให้คนที่รู้เรื่องดีช่วยจัดการไปดู-ไปเลือก-ไปดูการติดเครื่องยนต์ ธรรมดาทั่วไปจะเห็นว่าร้านเซียงกงทั้งหลายถนัดที่จะติดเครื่องยนต์โชว์ โดยต่อระบบไฟ ระบบน้ำมัน แต่ไม่ได้ต่อระบบน้ำหล่อเย็น คือไม่มีหม้อน้ำ ติดเครื่องยนต์โดยไม่มีน้ำหล่อเย็นก็ทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
ติดแล้วก็เร่งดู สังเกตอาการโดยผู้ชำนาญงานจะพอรู้ว่าเครื่องยนต์เครื่องนั้นยังดีอยู่ หรือแย่แล้ว
หากเป็นเซียนที่อยู่ในวงการนี้เขาดูละเอียดยิบ ไล่ตั้งแต่หัวน็อตต่าง ๆ ต้องไม่เยิน ซึ่งหมายถึงยังไม่ผ่านการถอดเข้าถอดออก มีการเปิดฝาครอบวาล์วดูลูกเบี้ยวเพลาราวลิ้นว่าเป็นมีร่องรอยสึกมากน้อยหรือไม่ เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือสอดเข้าไปในช่องหัวเทียน(เหมือนเครื่องมือแพทย์ที่สอดเข้าไปจากปากลงไปตามท่อทางเดินอาหารเข้าไปส่องดูในกระเพาะ หรือลำไส้)ไปส่องดูพนังเสื้อสูบ-ดูบ่าวาล์ว-ดูวาล์วกันเลยว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ร้านขายไม่ค่อยอยากให้ดู แต่หากเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่เขาเอาเครื่องแรงไปเก็บไว้ในคอกมาก ๆ ก็ต้องยอม เพราะซื้อกันทีเป็นสิบ ๆ เครื่อง
วิธีดูอีกอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญบอกคือเนื้ออลูมิเนี่ยมเสื้อสูบ-ฝาสูบ หากยังแวววาวอยู่ก็แสดงว่าเครื่องยนต์เครื่องนั้นใช้มาไม่มาก บางทีอาจไม่ถึงหมื่นกิโลเมตร แล้วถูกชนท้าย คนญี่ปุ่นจะเอาไปขายทิ้ง
เชื่อไหมว่าที่จอดรถเก่า ๆ ในญี่ปุ่นที่ปลดระวางต้องจ่ายเงิน จึงมีคนเอารถเก่าที่บ้านเราเห็นรับรองว่าเอามาใช้ต่ออีกนาน แอบเอาไปจอดทิ้ง แล้วรีบเผ่น
การซื้อเครื่องยนต์เซียงกง ต้องเอาอุปกรณ์มาให้ครบ เช่นแท่นเครื่องของที่ติดมากับเครื่องยนต์ทั้งชุด ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง หากเป็นรถขับล้อหน้าก็ต้องเอาเพลาขับมาด้วย บางร้านแยกออกขายวุ่นวายไปหมด หากยังอยู่เป็นชุดเดิม ๆ ของมันประเภทยกมาเป็นแพ หรือตัดมาทั้งหัวพร้อมช่วงล่างก็จะดีมาก
ระบบวายริ่งสายไฟเครื่องยนต์เซียงกงยุคใหม่เขาถอดออกจากรถคันเดิมมาทั้งยวง ไม่มีการตัด เพื่อความสะดวกในการติดตั้งเครื่องยนต์ว่าจะได้สมรรถนะเหมือนที่ติดกับรถแรงคันเดิม ไม่ใช่ติดเครื่องยนต์ได้ แต่ไม่มีแรง หรือแรงแต่กินน้ำมันมากเหมือนเททิ้ง หรือที่เลวสุด ๆ ก็คือกินน้ำมันมากแต่ไม่มีแรง ไม่วิ่ง เพราะการเดินสาย หรืออุปกรณ์บางอันเสีย เช่นเซ็นเซอร์เสีย ร้านติดตั้งระดับมาตรฐาน แม้ค่าวางเครื่องยนต์จะแพง แต่เขาเชี่ยวชาญการเดินสาย มีเครื่องมือตรวจเช็คทุกระบบ เมื่อติดตั้งเสร็จจะต้องได้แรงม้า/แรงบิด เท่าของแท้ หรือบางแห่งสามารถโมดิฟายกล่อง
อีซียู ให้แรงเกินลิมิตของญี่ปุ่นไปได้อีกมาก
เมื่อวางเสร็จแล้วจากความเร็วสูงสุดในญี่ปุ่น 180 กม./ชม. ก็กลายเป็น 220-230 กม./ชม. ได้อย่างง่ายดาย
ง่ายดายแต่งบก็เพิ่มขึ้นนะจะบอกให้ อันนี้ต้องเข้าใจ
หากแรงแต่ถูก ๆ เห็นทีต้องแรงตอนขับลงเขาอย่างเดียวเท่านั้น
เทคนิกการวางเครื่องมีรายละเอียดมาก จะต้องมีมุมเอียงที่พอเหมาะ ต้องมีการวัด ช่วงต่างๆ เช่นการ
เปลี่ยนตำแหน่งแท่นเครื่องใหม่ เปลี่ยนจุดยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ ใหม่ การเพิ่มเสริม หรือสร้างชิ้นส่วนเพื่อการเชื่อมต่อเช่นสร้างเพลาขึ้นมาใหม่เพื่อเชื่อมกับชุดขับเคลื่อนสี่ล้อ เช่นในรายของการเปลี่ยนเครื่องข้ามพันธุ์ในรถเรนโรเวอร์ เป็นเครื่อง วี-8 ของโตโยต้า ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะปลายเพลายขับมันไม่เท่ากันต้องให้โรงกลึงสร้างขึ้นมาใหม่
บางทีว่ากันตามหลักการวิศวกรรมยานยนต์การตัดต่อเพลาเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยยอมรับกันว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์
หากเป็นเพลาขับที่ถ่ายทอดแรงบิดมหาศาลต้องระวังมาก ๆ
แต่ก็ยังมีคนกล้าเอารถราคาหลายล้านบาทไปทำ ไปปรับเปลี่ยนทั้งเครื่องทั้งเกียร์ เหลือไว้แค่โครงสร้างที่แข็งแกร่ง กับมาดเท่ที่ได้พลังเพิ่มในราคาที่ถูกกว่าการยกเครื่อง
เขามองไปที่การเปลี่ยนเครื่องยนต์ครั้งต่อไปจะได้สะดวกสบาย/ประหยัด ไม่ต้องยกเครื่อง ไม่ต้อง
โอเวอร์ฮอลให้เสียเวลา
สรุปแล้วการเปลี่ยนเครื่องสำหรับคนรักความแรง และไม่อยากจุกจิกกับเครื่องเก่า ๆ ที่ต้องบำรุงรักษายาก ล้าสมัยเปลืองน้ำมัน กับการใช้เครื่องเก่าจากญี่ปุ่นแต่ใหม่ที่ประเทศไทย แรงกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า ไฮเทคกว่า เบากว่า ขับสนุกกว่า ถูกกว่า แถมดูแล้วสวยกว่ามาก คือสิ่งจูงใจให้เปลี่ยนเครื่องยนต์
...คุณล่ะ ? เบื่อเครื่องเก่า-ติดรถแก่ ๆ บ้างหรือยัง เปลี่ยนใหม่ดีกว่ามั้ง !?