1 มิ.ย. 2550

ปริศนาอัตราซดน้ำมัน!?






ขนวนการพยายามประหยัดน้ำมัน

สิ่งท่ีผู้ใช้รถสงสัยและสับสนเรื่องอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันของรถปิคอัพท่ีแข่งขันกันโฆษณาว่ารถของตัวเองกินน้ำมันน้อยถึงน้อยมาก จนไม่น่าจะเป็นไปได้ มีการพิสูจน์ มีการทดสอบกันหลายครั้งหลายหน

(รถสมัยใหม่มีเกจ์วัดท่ีหน้าปัดสามารถแสดงอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ณ ขณะท่ีขับได้ตลอดเวลาทุกสภาวะ ทุกเกียร์ ทุกความเร็ว ซึ่งผู้ขับขี่สามารถเลือกปฎิบัติได้โดยไม่ต้องวัดแบบเติมน้ำมันเช็คอีกต่อไป ด้วยความสามารถในการคำนวนของคอมพิวเตอร์ในระบบควบคุมรถยนต์ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่นท่ีสูง ๆ หน่อย เหมือนการทำงานนาฬากาดิจอตอลท่ีมีโหมดคล้าย ๆ กันทุกยี่ห้อ ต่อไปผู้ใช้ทุกคนจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เหมือนการปรับนาฬิกาดิจิตอลนั่นเอง)

บางรายการสามารถทำสถิติได้มากกว่าการขับของชาวบ้าน 2-3 เท่า เขาทำกันได้อย่างไร ?

เรื่องนี้มีคำตอบไม่ซับซ้อนครับ จากงานท่ีทำมานาน ตั้งแต่ยุครถเก๋งส่วนมากใช้คาร์บูเรเตอร์ วิธีการสมัยนั้นง่ายมากในการพิสูจน์ว่ากินน้ำมันมากน้อยแค่ไหน โดยการใช้ขวดน้ำเกลือท่ีหมอเติมให้คนป่วยขนาด 1 ลิตร ใส่เบ็นซินเข้าไป แล้วต่อท่อลงไปท่ีคาร์บูเรเตอร์ โดยมีท่อหายใจให้พร้อม จากนั้นก็ขับไปด้วยอัตราความเร็ว 60-90-100 กม./ชม. ด้วยความเร็วคงที่ ทั้งแบบเปิดแอร์และปิดแอร์

ก็จะได้อัตราความสินเปลืองของแท้ คือเครื่องดับไปเลยเมื่อน้ำมันหมดขวด ก็คำนวนเป็นกี่กิโลเมตร/ลิตร ได้ทันที

ขับเปรียบเทียบทั้งต้านลม และตามลม บนถนนสายเดียวกัน

ซึ่งจะได้อัตราคามสิ้นเปลืองท่ีต่างกัน แล้วนำมาหารเพื่อหาค่าเฉลี่ย

บางท่ีต้องทำหลาย ๆ รอบ

แต่หากเปลี่ยนคนขับอัตราความสิ้นเปลืองก็จะเปลี่ยนไปบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ เป็นแค่จุดทศนิยม

วิธีการขับก็ต้องเปลี่ยนเกียร์ให้ถึงเกียร์สูงสุดโดยเร็ว มี 4 เกียร์ ก็รีบเปลี่ยนให้ถึงเกียร์ 4 โดยเร็ว มี 5 เกียร์ก็ทำนองเดียวกัน

ส่วนมากจะไปกัน 2 คน ก็ต้องแจ้งน้ำหนักคนขับและคนนั่งไปด้วย

ก็เป็นสุขกับการทำงานดีครับ ทำแบบนี้หลายสิบคัน ตั้งแต่ไม่มีปัญหาเรื่องพลังงาน

เมื่อมีปัญหาวิกฤตการน้ำมันก็มีการแข่งขันอีโคโนมีรัน ก็มีโอกาสได้ร่วมทีมจัดด้วย

จึงรู้ว่าเป็นเรื่องของคนขับท่ีสามารถควบคุมรอบเครื่องยนต์ การใช้เบรกน้อยท่ีสุด และเทคนิกการใช้แรงดันลมยางท่ีสูงมาก ๆ อาจถึง 60-80 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อขับบนทางเรียบ

ในระยะทาง และเวลาที่กำหนด เช่น 120 กิโลเมตร ให้เวลา 120 นาที เพื่อให้ได้ความเร็วเฉลี่ย 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

วิธีการขับ ก็ต้องขับเร็วกว่าความเร็วเฉลี่ยเล็กน้อยเผื่อการเบรก เผื่อการจารจรท่ีร่วมทางกับชาวบ้านไปตลอดระยะทางการแข่ง

ทีนี้ก็ถึงฝีมือการขับเป็นสำคัญ ใครมีวิธีการอย่างไรก็ใช้กันเต็มที่

เมื่อถึงจุดหมายมักเป็นปั๊มน้ำมันก็เช็คกันว่ากินไปเท่าไหร่ ?

เทคนิกอีกอย่างท่ีนักแข่งอีโคโนมีรันใช้คือการลดอุณหภูมิน้ำมันในการเติมครั้งแรกให้เต็มถัง เพราะเย็นมันก็หดตัว หดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เอา

เมื่อเช็คแล้วก็ต้องมีการพิสูจน์รถท่ีชนะ โดยให้วิ่งในระยะหนึ่งว่ากินเท่านั้นจริงหรือไม่ นี่ในบางรายการ

บางรายการอาจมีการประท้วงเป็นราย ๆ ไปก็มีการทดสอบเป็นบางคัน

อัตราความสิ้นเปลืองก็จะได้ 2-3 เท่า หมายถึงขับได้ไกลกว่าชาวบ้านขับ คือ 1 ลิตร อาจจะ 37 กิโลเมตร

มาถึงยุคนี้ผมมีโอกาสร่วมทดสอบรถประหยัดน้ำมัน อีกหลายครั้ง แต่ท่ีสำคัญ ๆ เมื่อไม่นานมานี้ และทีมผมก็ชนะมาแล้ว ดังบทความรายงานข่าวขณะนั้น ดังนี้

ROAD TEST
CHEVROLET COLORADO 2.5 L
…องอาจ วังซ้าย

เรื่องขบวนการขับรถประหยัดน้ำมันต้องยกให้คุณบุญมา นาวาทอง หลายครั้งที่ได้อ่าน ได้ดู หรือฟังการพูดการเขียนจากหลาย ๆ สื่อ พบว่าแชมป์โลกยานประหยัด ปี 2005 คนนี้มักอ้างถึงการใช้แรงเฉื่อย และการลื่นไหลในทุกจุด

โดยการขับให้เร็วแล้วปล่อยให้ไหลไปจนความเร็วลดลงถึงระดับหนึ่งแล้วเร่งขึ้นไปใหม่ ถ้าเป็นยานประหยัดที่แข่งขันโดยใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะสูบเดียว 100 ซีซี ละก็จะใช้วิธีดับเครื่องเมื่อความเร็วถึงกำหนดที่ได้ซ้อมมา แล้วก็จะปล่อยให้ไหลไป จนความเร็วลดลงถึงจุดหนึ่งค่อยสตาร์ตใหม่ ทำอย่างนี้เป็นวัฏจักร

ตำแหน่งแชมป์ฯ ที่คุณบุญมาได้มาจากญี่ปุ่นนั้นผ่านการซ้อมกับทีมงานมาเป็นปี

มีการสร้างสถานะการณ์ต่าง ๆ ขึ้น เช่นฝนไม่ตกก็ฉีกน้ำให้เปียก เพื่อให้เกิดความแม่นยำชำนาญ

ยิ่งกว่าจอมยุทธฝึกเพลงกระบี่เสียด้วยซ้ำ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ

เทคนิกหลายอย่างผู้ที่เคยร่วมงานกันมาจะรู้ว่ามีอะไรบ้าง อย่างที่คุณบุญมา เขียนในฉบับที่แล้วว่าเราสองคน เคยแข่งประหยัดน้ำมันโดยคุณบุญมาเป็นคนขับ ผมเป็นเนวิเกเตอร์ และก็ประสพความสำเร็จ ได้ตำแหน่งขับได้ประหยัดที่สุดมาแล้ว และการทดสอบโคโลราโดทริปนี้ก็เช่นกัน เทคนิกหลายอย่างได้นำมาใช้

ในการขับประหยัดครั้งนี้ผมเป็นเนวิเกเตอร์เหมือนเดิม คุณรวิพลเป็นไดร๊ฟ์เวอร์ แบ่งหน้าที่กันเด็ดขาด หลังจากจับคู่กันทางอากาศโดยคุณรวิพลที่ได้รับการติดต่อจากทีมงานทดสอบครั้งนี้ก่อนที่จะโทรหาผม โดยย้ำว่าขอเป็นบัดดี้กัน

ผมโทรคุยกับบัดดี้หลังจากทีมงานติดต่อมา และแจ้งว่ามีคนจองเป็นคู่ทดสอบแล้ว เป็นหน้าเดิม ผมถามคำเดียวว่าจะเอาแบบเครียดหรือแบบสนุกสนาน คำตอบคือ”ต้องมีการวางแผน”

แต่เราไม่ได้พบกันจนถึงเช้าวันทดสอบวันที่ 18 พ.ค. 2548 เมื่อผมไปถึงก่อนเป็นคนแรก ๆ ได้รับใบนำทางรูปแบบไซจ์แรลลี่แล้ว ก็คำนวณความเร็วเฉลี่ย ความเร็วเดินทาง และวางแผนการขับขี่ไว้ทุกจุดว่าจะต้องผ่านถนนสายไหน เมื่อรู้ว่าจุดใดควรทำเวลาเร็วไปก่อน เพื่อเผื่อช่วงที่อาจมีรถติด มีทางขึ้นเนิน-ลงเนิน

ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษอะไรทั้งสิ้น เป็นการคิดเลขในใจเป็นส่วนมาก

กฎกติกาการขับครั้งนี้ไม่ซับซ้อน ช่วงแรกระยะทาง 172.3 กม. เวลา 120 นาที ความเร็วเฉลี่ย 86 กม./ชม. ช่วงที่สอง 126.3 กม. เวลา 120 นาที ความเร็วเฉลี่ย 62 กม./ชม. และช่วงสุดท้าย 168.3 กม. เวลา 180 นาที ความเร็วเฉลี่ย 56 กม./ชม. รวมระยะทาง 466.9 กิโลเมตร พักช่วงแรกที่เขื่อนลำตะคอง 30 นาที กับเวลาอาหารกลางวันที่ปราสาทหินพิมายอีก 70 นาที ทำให้คันสุดท้ายไปถึงจุดหมาย ประมาณ ห้าโมงเย็น

ช่วงแรกออกสตาร์ตก็เจอการจารจรบนถนนวิภาวดีรังสิต หนาแน่นพอสมควร แต่ไม่ถึงกับหยุดนิ่ง มุ่งหน้าไปทางรังสิต

ผู้ทดสอบทุกคนรู้ดีว่าเป็นทางเรียบจากกรุงเทพฯถึงสระบุรี บางวันก็หนาแน่นมาก โชคดีที่วันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ช่วงสาย ๆ รถสามารถมุดแทรกไปได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเลี้ยวขวาสู่อิสานแล้วรถเริ่มหนาแน่น มีทางขึ้นเนินลงเนินเป็นช่วง ๆ

ขณะที่ออกจากจุดสตาร์ตผมบอกให้คุณรวิพลไปแบบเร็ว ระดับ 100-110 กม./ชม. ให้พยายามมุดไปแบบลื่นไหล อย่าเบรกหากไม่จำเป็นจริง ๆ ยังไม่ต้องคำนึงถึงความเร็วเฉลี่ย 86 กม./ชม. ทำให้รถเบอร์ 06 ของเราแซงไปจนนำโด่ง บัดดี้ของผมหันมาถามอย่างแปลกใจว่าคุณแน่ใจหรือ นี่เรามาโด่งคันเดียวเลยนะ ไม่เร็วเกินไปหรือ ?

ผมย้ำว่ามันเป็นทางราบ หากโล่งก็ให้รีบ ๆ ไปเดี๋ยวจะต้องเจอรถหนาแน่น มีทางขึ้น ๆ ลง ๆ เลี้ยวโค้งสารพัด

เมื่อเข้าสู่ถนนมิตรภาพ เหตุการณ์ที่คาดหมายไว้จึงเกิดขึ้น ทำให้เวลาที่เราเผื่อไว้ชดเชยการจารจร พอดี ๆ เมื่อเข้าจุดเช็คแรกที่เขื่อนลำตะคอง เราสามารถตอกศูนย์คือใช้เวลา 120 นาที เป๊ะ ไม่ขาดไม่เกิน แม้ว่าทางผู้จัดยอมให้เลทสะสมตลอดเส้นทางได้ ถึง 15 นาที ก็ตาม

มีหลายคันที่พยายามรักษาความเร็วเฉลี่ยตั้งแต่ออกสตาร์ตเข้าช้ากว่าเวลาที่กำหนดให้ 120 นาที บางคัน เลทเกิน 15 นาทีตั้งแต่ช่วงแรก เพราะวางแผนการเดินทางผิดพลาด

เมื่อถึงจุดพัก 30 นาที คุณรวิพลเริ่มมั่นใจว่าวิธีการที่ผมวางแผนไว้น่าจะถูกต้อง จึงยิ้มแย้มแจ่มใส เราไม่ได้เครียดกับการขับอีโคโนมีรันกลาย ๆ ในทริปนี้ หวังว่าเราต้องไม่เลทเด็ดขาด จะพยายามไปให้เร็วกว่าเวลาควบคุมในจุดต่อ ๆ ไปอีก 2 ช่วง เพราะไม่รู้ว่าจะเจอการจารจรล็อคตายแบบเกิดอุบัติเหตุข้างหน้าหรือไม่ !!

ผมย้ำตลอดเวลาว่าให้เผื่อรถติดตาย ไม่ขยับ ให้ได้ช่วงละ 5-7 นาที โชคดีจริง ๆ วันนั้นไม่มีรถชนกันจนทำให้การจารจรติดตาย

ผมบอกว่าหากเจอเราต้องมุดต้องแทรกไปให้ได้อย่าหยุดเป็นอันขาด

อันนี้ต้องอาศัยความชำนาญในการกล้าตัดสินใจของไดร๊ฟ์เว่อร์ และไม่ผิดหวัง บัดดี้ของผมไว้ลายที่จัด
ไดร๊ฟ์เวอร์เทรนนิ่งหลากสไตล์บ่อย ๆ

มุดแบบไม่น่าเกลียด ไม่ถึงกับเสียมารยาทที่ดีบนถนนหลวง

ในการทดสอบโคโลราโด 2.5 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ ครั้งนี้ผมคิดว่าสื่อสายทดสอบทดลองรถทุกคนที่เข้าร่วมรายการต่างจ้องที่จะทำสถิติให้กับตัวเอง หรือหวังชนะกันทั้งสิ้น จะมีขับไปเที่ยวแบบไม่สนใจอะไรสองสามคันเท่านั้น ดูจากสถิติมันฟ้องชัดเจน เพราะหากเรื่อยเปื่อยจะซดมากผิดสังเกต

ผมบอกให้แซงเบอร์ 02 (ซึ่งมาเร็วเช่นกัน) ไปสองครั้ง เพื่อย้ำจุดมุ่งหมายที่จะไม่มีการเลท เพราะผู้จัดเน้นต้องการให้ขับแบบใกล้เคียงกับการใช้รถทั่ว ๆ ไป

ตลอดเส้นทางจึงไม่มีการดับเครื่องยนต์ อย่างมากแค่ปลดเกียร์ว่างปล่อยไหล หรือเหยียบคลัทช์จมโดยไม่ได้เลื่อนเกียร์ เพื่อลดรอบเครื่องช่วงสั้น ๆ ที่ถนนอำนวยให้เช่นมาเร็วเกินไปก็ปล่อยไหลไปบ้างแม้เป็นทางราบไม่ได้ลงเนินก็ตาม

ผมย้ำกับบัดดี้ว่าตามหลักวิศวกรรมยานยนต์แล้วความฝืด หรือค่าสัมประสิทธิความฝืดระหว่างหน้ายางกับพื้นถนนที่ต่างกันก็มีผลต่อการกินน้ำมันเช่นกัน ผมจึงบอกหรือชี้ให้มุ่งสู่พื้นผิวที่ลื่นกว่าอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาส

อะไรคือความลื่น ถนนคอนกรีตมีความฝืดมากกว่ายางมะตอย เมื่อมีไหล่ทางที่กว้างแต่เป็นยางมะตอย ผมชี้ให้วิ่งบนนั้น

ไดร๊ฟ์เว่อร์ถามว่าคุณรู้ได้อย่างไร ?

ผมอธิบายว่าอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เรากำลังจะไปนี่แหละเป็นผู้เคยชนะอีโคโนมีรันด้วยเทคนิกง่าย ๆ นี้มาแล้ว อาจารย์เล่าให้ฟังตอนเมายามลุยราตรีเมื่อทดสอบรถลุยอิสานไปด้วยกัน ไปจบที่ คณะวิศวกรรม ม.ดินแดง เมื่อปีก่อน

เนื่องจากรถมีขนาดเครื่องยนต์ ขนาดยาง เกียร์ เฟืองท้ายเหมือนกันหมด หากใช้เทคนิกการขับแบบเดียวกันก็จะสิ้นเปลืองใกล้เคียงกันมาก
การวิ่งบนไหล่ทางจึงเป็นเทคนิกเพื่อชนะ ซึ่งเราได้ทำจริง ๆ แต่ไม่ค่อยปลอดภัยนัก บัดดี้ผมยอมรับว่ามันลื่นกว่า มันลอยตัวมากกว่าจริง ๆ เมื่อเทียบระหว่าง 2 พื้นผิวที่ว่านี้

ตลอดเส้นทางราบบนถนนมิตรภาพจากพิมายถึงขอนแก่นเราใช้พื้นผิวแบบนี้ใกล้ ๆ 100 กิโลเมตร
หากท่านมีความจำเป็นน้ำมันจะหมดมิหมดแหล่ หาปั๊มทำยายาก หรือ อยากขับให้ถึงที่หมายจะใช้เทคนิกนี้บ้างก็ได้ แต่ระวังตกข้างทางหน่อยก็แล้วกัน

“คนไม่รู้คิดว่ารถเราบ้าไปแล้วที่ขับแบบนี้” คุณรวิพล พูดแบบขำ ๆ แต่ก็ยอมทำตาม...ก็แบ่งหน้าที่กันแล้วนี่ครับ วันนั้นนักจัดรายการวิทยุชื่อดังต้องฟังผมบ้างละครับ

แต่เพื่อความแน่ใจว่าจะทำให้อัตราความสิ้นเปลืองน้อยกว่าคันอื่น ๆ ในรุ่น X-CAB ในช่วงที่ลุยทางขรุขระ ลัดเลาะไปตามแนวคลองชลประธานหลังจากออกจากปราสาทหินพิมายมาสักพัก เป็นลูกรังปนกันดินธรรมดา ๆ เป็นช่วง ๆ มีน้ำขังเป็นหลุมบ่อ หากขับเพลอนอาจติดหล่มเล็ก ๆ เหล่านี้ได้เหมือนกัน

ไดร๊ฟ์เวอร์อาศัยความชำนาญเรื่องออฟโรด ใช้เกียร์ 5 แล้วยกเท้าขวาจากคันเร่งปล่อยให้รถขับเคลื่อนที่ 900 รอบ/นาที ความเร็ว 30-40 กม./ชม. ในเส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ โดยวิธีการลุยตรงไป ไม่มีการหยอดหลุม ช่วงนี้เราแซงคันที่มาก่อน ๆ ไปหลายคัน ช่วงล่วงของรถทนได้ แม้คนนั่งจะกระดอนหัวแทบชนหลังคาก็ตาม ต้องเอามือจับ-ดัน-ดึง ให้แน่น

“มันไปได้ของมันเอง ดูซิรอบเครื่อง แค่ 900 รอบ/นาที ไม่มีอาการสะดุด หรือเครื่องสั่น”...คุณรวิพลโวยวายขณะผ่านสิ่งกีดขวาง ก่อนเลี้ยวซ้ายเขาถนนดำ เพื่อเลี้ยวขวาไปเจอถนนมิตรภาพ สาย 2
พบกับทางเรียบสักครู่ก็มีพายุฝนโปรยปรายค่อนข้างหนัก ล้างคราบดินโคลนออกไปได้บ้าง ช่วงฝนตก เราควบคุมความเร็วอยู่ที่ 70-80 กม./ชม. แน่นอนว่าล้อรถที่ต้องรีดน้ำบนผิวถนนย่อมต้องต่อสู้กับความต้านทานจากอาการเหินน้ำมากกว่าถนนแห้ง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราความสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้น แต่สภาวะนี้รถทุกคันต้องพบเหมือน ๆ กัน ประมาณ 30 นาที จากการสังเกตุข้างทางต้นไม้ลู่ตามลมพอสมควร ก็แสดงว่ามีแรงต้านจากลมมากขึ้นกว่าการผ่าไปข้างหน้าแบบแห้ง อีกด้วย อย่างไรก็ตามเราก็ขับด้วยอัตราความเร็วตามที่วางแผนกันไว้

เนื่องจากเรามาเร็วจึงเข้าจุดพินิช ก่อนเวลา ประมาณ 7 นาที หากเราควบคุมให้ช้า ๆ อัตราความสิ้นเปลืองต้องน้อยกว่านี้

สองช่วงสุดท้ายเราเร็วกว่ากำหนดรวม ประมาณ 15 นาที !!

ทำให้ความสิ้นเปลืองรวมทั้งหมด 24.987 กม./ลิตร ชนะเลิศรุ่น X-CAB

ในงานสังสรรค์คืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 พบว่าคันที่ได้แชมป์รุ่น C-CAB เข้าเลทกว่าเวลารวม 5 และ 8 นาที แสดงว่ามาแบบช้า ๆ แต่ไม่ผิดกติกา ที่ให้ช้าได้ไม่เกิน 15 นาที

แต่ทีมของเรา ไม่เลท ช่วงแรกตรงเวลา 120 นาที ช่วงที่ สองเร็วประมาณ 8 นาที เป็นเป้าหมายที่ตรงกับที่ผู้จัดต้องการคือขับใกล้เคียงการใช้งานขอฃงผู้ใช้รถทั่ว ๆ ไปที่ต้องการประหยัด เนื่องจากน้ำมันดีเซลราคาลอยตัวไปเรียบร้อยแล้ว ไม่แน่ว่าจะแพงเท้าเบนซิน 91 หรือแพงกว่าก็อาจเป็นได้ทั้งนั้น

เหตุผลทางเทคนิก ที่มาของอัตราซดเบา ๆ
ไม่มีใครซื้อรถมาแล้วจอดให้หนูกัดสายไฟเล่น รถทุกคันจึงต้องเคลื่อนไหว หยุดนิ่งแค่เดือนเดียวแบตเตอรี่ก็พังแล้ว เมื่อต้องใช้งานก็ต้องแสวงหารถที่เข้าท่า ทันสมัยกันหน่อย โคโลราโดก็เช่นกันเป็นรถที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้รับการพัฒนาเพื่อต่อสู่กับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ก่อนที่จะถึงจุดวิกฤติที่น้ำมันดิบหมดจากโลกใบนี้

น้ำมันดีเซลลอยตัวแล้วอาจแพงเท่า หรือแพงกว่าเบนซิน ท่านที่ซื้อปิคอัพเครื่องยนต์ขนาดใหญ่มาเพื่อขับตัวเปล่าเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเลือกใช้รถที่ผิดประเภท เพราะกำลังเหลือเฟือ และมีอัตราความสิ้นเปลืองมากกว่า โคโลราโด 2.5 ลิตร ไดเร็คอินเจ็คชั่น เทอร์โบ คอมมอนเรล นี่เป็นการเลือกใช้ที่ถูกต้องหากเป็นการเดินทางตัวเปล่าอย่างที่เราทำกันในทริปนี้

แต่หากนำไปบรรทุกเต็มอัตรา แล้วนำไปแข่งกับ เครื่อง 3.0 ลิตร สไตล์เดียวกันรับรองว่า เครื่อง 2.5 ลิตร จะกินน้ำมันมากกว่า
เหตุผลก็คือแรงบิด น้อยกว่า ต้องเร่งมากกว่าเพื่อเอาชนะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หมายถึงน้ำมันในถังก็จะลดฮวบ ๆ ตามไปด้วย


....นี่เป็นราบงานท่ีเคยเผยแพร่มาแล้ว แต่มีอีก 2 รายการ คือขับวีโก้อีโคโนมีรัน ท่ีกระบี่ แบบแยกถังน้ำมันโดยเฉพาะ

และอีกรายการหนึ่งรายการหนึ่งท่ีเป็นการทดสอบรถปิคอัพ ไตรตัน และบรรทุกข้าวสาร 1 ตัน ไปด้วย ผมได้มีโอกาสร่วมทดสอบโดยขับเดี่ยว ๆ จากชะอำถึงหาดใหญ่ ก็ทำสถิติได้ เกิน 20 กิโลเตร/ลตร โดยขับตามสบาย รวมกับการจารจรปกติ จะนำมารายงานในโอกาสต่อไป

ภาพ รถทีมเราเป็นเบอร์ 06 เส้นทางระหว่างพิมายไปขอนแก่นบางช่วงเป็นลูกรังมีหลุมบ่อ และภาพรับรางวัล นอกจากถ้วยกระดาษใบนี้แล้ว ยังมีเมาเท่นไบค์เชพโรเลทมาปั่นเล่น และแถมทองอีก 1 บาท กลับมาเที่ยวนั้นรวยเลยครับ

(คนกลางเพื่อนผมคุณรวิพล สุวรรณผ่อง เป็นไดร๊ฟ์เวอร์ เขาพูดเรื่องรถในรายการ "รายงานยานยนต์" 100.5 เอฟเอ็ม อสมท. ต่อเนื่องมา 10 ปี แล้วครับ ตอนนี้ สี่ทุ่มถึงห้าทุ่ม จันทร์-ศุกร)